สัมผัส BMW R1200 GS Adventure #2
(ต่อจากหน้า 1) เติมน้ำมันเสร็จที่แยกแม่มาลัย พร้อมๆกับที่เมฆฝนดำทมึนเคลื่อนตัวเข้ามาปกคลุมทิวเขาที่เรากำลังจะขี่รถไปข้างหน้า
|
|
ช่องตาแมวสำหรับตรวจระดับน้ำมันเครื่อง อยู่ที่ข้างเครื่องยนต์ฝั่งซ้ายด้านล่าง ซึ่งต้องขึ้นขาตั้งคู่เสียก่อนถึงจะมองเห็น ส่วนไส้กรองน้ำมันเครื่องก็ปักลงใต้เครื่องยนต์ ง่ายต่อการเซอร์วิส |
การ์ดอลูมิเนียมป้องกันเครื่องยนต์ด้านล่าง ซึ่งเป็นอุปกรณ์มาตรฐานของรถที่ออกแบบมา ไว้ลุยภูมิประเทศในกรณีเจออุปสรรคไม่คาดฝัน |
|
|
แป้นวางเท้าผู้ขับขี่ในตัว Adventure จะเป็นแผ่นเหล็กบากร่อง เพื่อป้องกันการลื่นไถลจากพื้นรองเท้าในกรณีที่เหยียบย่ำโคลน รวมไปถึงแป้นเหยียบเบรคที่ออกแบบมา ให้ปับความสูง-ต่ำได้สองระดับ |
ชุดช๊อคอัพหลังควบคุมการทำงานด้วยไฟฟ้า ปรับตั้งง่ายดายด้วยปลายนิ้วกดที่ปุ่มบนแฮนเดิ้ลบาร์ฝั่งซ้าย อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่เป็นจุดเด่นของโมเดลนี้ |
|
|
ชุดเพลาขับล้อหลังออกแบบได้สวยงาม กระทัดรัดกว่าโมเดลก่อนหน้านี้ แต่ยังมีข้อสงสัยในเรื่องความคงทน เพราะเคยอ่านบททดสอบต่างประเทศ ที่เกิดกรณีรถล้มแล้วชุดเพลาท้ายถึงกับแตก ! |
ยางหนามดอกใหญ่ Tubeless รัดบนกระทะล้อซี่ลวดปักข้าง ซึ่งมีข้อดีในแง่ของการรับแรงกระแทกสำหรับการขี่โหดๆ แต่มีข้อเสียก็คือ ในเมืองไทยยังไม่มีใครซ่อมหรือตั้งซี่ลวดได้เนี๊ยบพอ ถ้าเพี๊ยนขึ้นมา เตรียมเงินไว้เปลี่ยนทั้งวงสถานเดียว |
|
ชุดเบรคหน้าแบบจานคู่ ใช้คาลิเปอร์สัมปทานค่าย Brembo แต่ประทับตรา BMW พร้อมระบบ ABS. ยืนยันประสิทธิภาพในการเบรคว่าอยู่ในระดับที่ดีที่สุดของโลก |
|
จึงเซ็ทช่วงล่างมาในโหมด Normal แล้วค่อยๆขี่จับอาการของช่วงล่างฝ่าสายฝนเข้าสู่โค้งพับผ้าเพื่อมุ่งหน้าสู่ปาย ตลอดระยะทางที่ขี่ลุยฝยจนถึงปาย ผมเปลี่ยนวิธีการขับขี่ไปใช้แบบผ่อนเร็ว เปิดนุ่ม อาศัยแรงเฉื่อยของรถไหลเข้าโค้งเพื่อไม่ให้กำลังของเครื่องยนต์ไปรบกวนระบบการทำงานของช่วงล่างในจังหวะถอนคันเร่งหรือเปิดคันเร่งเหมือนการขับขี่บนถนนแห้งสนิท บางจังหวะที่ล้อเริ่มมีอาการไถลเสียการยึดเกาะ ประสาทสัมผัสของก้นที่สัมผัสเบาะรถซึ่งเป็นสื่อในการถ่ายทอดอาการของตัวรถสู่การประมวลผลในสมองเริ่มส่งอาการเด่นชัดว่าระบบ Traction Control ซึ่งจะคำนวนการหมุนของล้อหน้า-หลังให้สัมพันธ์กัน เพื่อประสิทธิภาพการยึดเกาะถนน ซึ่งถ้าเกิดอาการ "ฟรีทิ้ง" ของล้อ ระบบอิเลคโทรนิคส์ก็จะคอนโทรลระบบการทำงานของเครื่องยนต์ให้การถ่ายทอดกำลังลงสู่ล้อหลังได้สมดุลย์กับล้อหน้าในเสี้ยววินาที ซึ่งตลอดระยะทางร้อยกว่ากิโลที่เปียกปอนอยู่ในสายฝนพรำๆ บนทางโค้งที่มีคราบโคลนของดินตะกอนที่ไหลลงจากภูเขาตามสายน้ำมาเคลือบผิวถนนไว้ เจ้า R1200GS Adventure สามารถตอบสนองการขับขี่ได้อย่างราบรื่น จนกระทั่งแวะจอดพักที่ดอยกิ่วลม เนื่องจากฟ้าเริ่มเปิด มองข้ามทิวเขาไปด้านอำเภอปางมะผ้าสู่เมืองแม่ฮ่องสอนที่เรากำลังจะไปมีแสงแดดฉาบทับทิวเขา และจากการสอบถามรถยนต์ที่ขับสวนมาจากเส้นทางนั้นได้ความว่า ถนนแห้งสนิทดี ไม่มีฝน ผมจึงปรับโหมดการทำงานของระบบช่วงล่างไปที่ Sport อีกครั้ง พร้อมกับบอกหนูดาวคนซ้อน และเรียกวิทยุไปบอกเสี่ยเม้งบน K1200GTว่า ร้อยกว่ากิโลที่เหลือ ขอสนุกกับทางโค้งที่คุ้นเคยซักหน่อย ไม่ต้องตามแบบติดท้าย
ทางโค้งช่วงเลยจากจุดจอดพักสันดอยกิ่วลม จะเป็นโค้ง V-Shape พับแบบกว้างๆ แต่ดิ่งลงเขาแบบชันๆ จนถึงปางมะผ้า ที่ถนนจะเริ่มหักพับชันขึ้นเขาอีกครั้งจนถึงจุดจอดพักบ้านมูเซอ แล้วจะเปลี่ยนสภาพเป็นโค้งสั้นๆบนสันเขาจนถึงแยกทางเข้าบ้านปางคามก็จะเริ่มแปรสภาพกลับมาเป็นโค้งพับดิ่งลงเขาจนถึงทางแยกเข้าบ้านห้วยผึ้ง หลังจากนั้นก็จะเป็นทางโค้งที่เริ่มง่ายเพราะเป็นถนนวิ่งเลาะนาข้าวและแอ่งภูเขาจนกระทั่งถึงตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ซึ่งตลอดทางจากสันดอยกิ่วลม ผมทดลองกลับมาขี่แบบ "เข้าสุด เบรคหนัก เปิดแรง กระแทกให้ลอย" อีกครั้ง จนคนซ้อนเริ่มเอามือแตะไหล่เป็นระยะๆ เพราะเริ่มเกร็งจากความเร็วและแรงเหวี่ยงในการพลิกรถตามความพริ้วของโค้ง ซึ่งประสาทสัมผัสของผมที่ทดลองขี่แบบโหดๆในช่วงนี้ ได้คำตอบจาก R1200GS Adventure เป็นที่น่าพอใจ เพราะมันสามารถตอบสนองการขี่แบบโหดๆ ด้วยระบบเบรคที่ทำงานแม่นยำ ระบบช่วงล่างที่ "เอาอยู่" กับสภาพถนนมีความแตกต่างเรื่องการยึดเกาะในช่วงเวลาติดๆกันได้อย่างน่าทึ่ง ส่งผลให้ผมสามารถ "ไปเร็ว" ได้อย่างที่ใจต้องการ จนกระทั่งเหลือระยะทางอีกประมาณ 10 กิ โลเมตรจะถึงตัวเมืองแม่ฮ่องสอน จึงเหลือบตามองนาฬิกาบนตัวรถ..โอ้ว...แม่เจ้า จากกิ่วลมถึงแม่ฮ่องสอน เคยขี่ D-Tracker สาดสไลด์เข้าโค้งทำสถิติตัวเองไว้ที่ชั่วโมงครึ่ง แต่วันนี้ ใช้เวลาไปแค่ชั่วโมงเดียว
ช่วงพักอยู่ในเมืองแม่ฮ่องสอนสองวัน ก็เกิดความคิดสัปดน โทรไปหากำนันกิตติเจ้าของรถ บอกว่าอยากเอารถไปลองลุยขี้โคลนเละๆดูซักครั้ง " ตามสะดวกครับเพ่...คิดว่ามันเป็นรถของพี่แล้วกัน " และในเมื่อเจ้าของรถส่งสัญญานไฟเขียวปี๋ขนาดนั้น จึงชักชวนเสี่ยเม้ง หนีบนายโต้งที่คว้ากล้องพร้อมถ่ายทำออกไปนอกเมืองเพื่อหาปลักโคลนลุยเล่น โดยช่วงแรกของการลุย ต้องให้เสี่ยเม้งคอยยืนประคองไลน์เผื่อเหตุไม่คาดฝัน แต่พอถึงเวลาเอาเจ้า R1200GS Adventure ลงไปลุยจริงๆ เสี่ยเม้งได้แต่ยืนมองการทำงานของล้อหลังที่ "ตัดต่อ" กำลังให้เห็นอย่างเด่นชัดในขณะที่เจ้า R1200GS Adventure ลงไปจมอยู่ในโคลน โดยในขณะที่ล้อหลังเริ่มมีอาการฟรีทิ้ง เพราะยางกึ่งทางเรียบที่ใส่ติดล้อมาเริ่มหมุนเร็วกว่าล้อหน้า เครื่องยนต์จะตัดและปล่อยการถ่ายทอดกำลังออกมาเป็นจังหวะ สัมพันธ์กับการทำงานของระบบช่วงล่างที่ผมเซ็ทไว้เป็นโหมด Enduro ซึ่งจะยุบให้ร่องยางตะกุยหลังจังหวะ "ตัด"กำลังแค่เสี้ยววินาที สัมพันธ์กับจังหวะที่เครื่องยนต์เริ่ม "ปล่อย" กำลังออกมาอีกครั้งพร้อมๆกับช่วงล่างที่เริ่มยืด สลับกันไปจนกระทั่งตัวรถสามารถผ่านพ้นปลักโคลนขึ้นมาได้ พร้อมๆกับเสียงสูดลมหายใจออกอย่างโล่งอกของทุกคนที่อยู่ในเหตุการณ์
|
เส้นทางคราวนี้ เต็มเหนี่ยว กรุงเทพฯ - แม่ฮ่องสอน |
|
กำนันกิตติเจ้าของม้าศึกลุยเอง ขึ้นเขาลงห้วย |
|
ทางฝุ่นทางเรียบ ทางลื่นไม่สนจะไปซะอย่าง |
|
วันเดินทางกลับสู่กรุงเทพ ผมเลือกใช้เส้นทางผ่านขุนยวม ตัดเข้าแม่อูคอ แม่แจ่ม ดอยอินทนนท์ ลำพูน และมาแวะพักที่ลำปาง ซึ่งตั้งแต่เช้าของวันที่ออกเดินทางกลับ สายฝนก็เริ่มตั้งเค้ามาดำทมึน แต่เราก็ขี่ผ่านเส้น "ขุนยวมเซอร์กิต" มาได้แบบไม่ยากเย็น เพราะพื้นผิวถนนยังมีความแหลมคมของหิน ส่งผลดีต่อการยึดเกาะของยางในโค้งพับๆ แต่พอจอดรอเลี้ยวซ้ายเข้าแม่อูคอ สายฝนเริ่มตกหนักจนกระทั่งมองไม่เห็นทาง จึงวิทยุไปบอกเสี่ยเม้งว่า ให้ใส่ชุดกันฝนแล้วลุยกันต่อในทันที บนถนนที่ขี่ผ่านจนถึงดอยอินทนนท์จะมีแต่โคลนดิน เศษหินที่ถล่มจากไหล่เขาลงมาบนถนน และมูลวัวแฉะๆ ซึ่งเจ้า R1200GS Adventure สามารถผ่านไปได้อย่างไม่ต้องกังวลอะไร แต่พอถึงช่วงลงจากยอดดอยอินทนนท์างจอมทอง มีขบวนรถตู้นักท่องเที่ยวขับต่อกันเป็นช่วงยาว เสี่ยเม้งเปิดคันเร่ง K1200GT แซงพ้นไปได้สบายๆจากกำลังเครื่องยนต์บล๊อคสี่สูบเรียง แต่กับ R1200GS Adventure ที่เป็นสองสูบนอนยัน อัตราการกระโดดของม้าในเครื่องยนต์ทำได้ช้ากว่าเครื่องยนต์แบบสี่สูบเรียง ในจังหวะที่แซงขบวนรถตู้จนถึงช่วงโค้งซ้ายพับที่จำเป็นต้องเข้าสู่เลนตัวเอง ด้วยความเร็วที่ส่งลงเขามาจนสุดทางตรง จำเป็นต้องไหลให้พ้นหน้ารถตู้เพื่อพับรถเข้าโค้ง วินาทีนั้นเองที่ได้ทดลองระบบเบรค ABS บนถนนเปียกๆ แบบชัดเจนที่สุด เพราะมันถึงจุดวิกฤติที่ต้องเบรคให้สุด พร้อมๆกับการที่ต้องเปลี่ยนไลน์การขี่เพื่อเข้าสู่ช่องทางซ้าย เพื่อป้องกันเหตุการณ์ "บึ้ม" กับรถที่สวนมาในโค้งลับตา ระบบเบรค ABS ของ R1200GS Adventure ทำงานได้แม่นยำมาก จนสามารถนำรถเข้าสู่เลนปกติได้ภายหลังอาการอย่างอกสั่นขวัญแขวน เพราะจังหวะสุดท้ายก่อนจะพับรถ ดันมีแอ่งน้ำบนไลน์ที่เราจะวิ่งผ่านซึ่งมองไม่เห็นล่วงหน้า แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี กลับมาสู่การขับขี่แบบเรื่อยๆมาเรียงๆ ผ่านลำพูน จนถึงที่พักในเมืองลำปาง
วันสุดท้ายของการเดินทาง ผมหวด R1200GS Adventure ไปส่งหนูดาวที่เมืองเชียงใหม่ แล้วย้อนกลับมาปลุกเสี่ยเม้ง และแพคสัมภาระใส่รถที่ลำปาง แหงนหน้ามองท้องฟ้าที่เริ่มมีเมฆฝนเคลื่อนเข้ามาปกคลุมบดบังแสงอาทิตย์จนบรรยากาศเริ่มขมุกขมัว เสี่ยเม้งวิทยุมาบอกว่าจะขี่นำไลน์เปิดทางให้ท่ามกลางสายฝนที่เริ่มกระหน่ำลงมาอย่างหนัก แต่ K1200GT ของเสี่ยเม้งที่มีนายโต้งซ้อนท้ายกลับเร่งทะยานความเร็วขึ้นไปสู้กับสายฝนบนความเร็วช่วง 150-160 กม./ชม.
ตามปกติที่ผมขี่รถญี่ปุ่นที่ไม่มีระบบช่วงล่างและเบรคแบบนี้ในสภาพอากาศแย่ๆท่ามกลางสายฝนแบบนี้ เคยกลั้นใจแช่ความเร็วได้แค่ไม่เกิน 120 กม./ชม. ตอนครั้งที่หวดนกแดงลงจากแม่ฮ่องสอนกับนายวัธเมื่อสองปีก่อน แต่หนนี้เจ้า R1200GS Adventure สามารถสร้างความมั่นใจในการขับขี่ เพลิดเพลินจนลืมเช็คความเร็วบนเรือนไมล์เพราะสายตาจับจ้องอยู่ที่หน้ารถอย่างเดียว จนบางครั้งที่ความเร็วเริ่มเลย 160 ตัวรถเริ่มมีอาการ "แกว่ง" ในบางจังหวะจากหลุมบนถนนในช่วงกำแพงเพชร จึงต้องวิทยุบอกเสี่ยเม้งให้เบาคันเร่งเพราะเริ่มรู้สึกว่า ใกล้จะถึงลิมิตของความปลอดภัยในการขับขี่ เนื่องจาก R1200GS Adventure ที่มีความสูงกว่า K1200GT ย่อมออกอาการเร็วกว่าตัวรถที่เตี้ยกว่าในสภาพการขับขี่เช่นนี้ เราลากคันเร่งกันยาวรวดเดียวจนมาแวะพักทานมื้อเย็นที่กำแพงเพชรในสภาพเปียกไปหมดทุกส่วนของร่างกาย แล้วจึงฝ่าสายฝนพรำๆกันต่อจนถึงกรุงเทพโดยสวัสดิภาพทั้งสองคัน
Special Scoop ครั้งนี้ จะเน้นหนักไปในแนวการ Review ความรู้สึกจากสัมผัสที่ได้ทดลอง "ขับขี่จริง" บนถนนที่หลากหลายทั้งสภาพภูมิประเทศและอากาศที่ผันแปร มันจึง "ครบ" ที่สุดสำหรับการจำลองการที่เพื่อค้นหาคำตอบกับความประทับใจใน R1200GS Adventure คันนี้ครับ
ถามว่าพอใจไหม ....
ตอบอย่างไม่ต้องอ้อมค้อม จากสไตล์การขับขี่ของตัวผมเองที่ชอบเดินทางท่องเที่ยวบนเส้นทางไกลๆ ไม่ชอบแวะพักบ่อย ไม่ต้องเผื่อใจสำหรับเส้นทางข้างหน้า ผมกล้าตอบว่า R1200GS Adventure โดนใจมาก ตอบสนองการขี่ได้ทุกสไตล์ ตอบโจทย์เส้นทางที่โหดสุดขั้วได้น่าประทับใจ บนความปลอดภัยของโครงสร้าง ความกลมกล่อมของกำลัง และระบบอิเลคโทรนิคส์อันชาญฉลาดบนตัวรถ
ถามว่ามีอะไรเป็นจุดบกพร่องบ้าง....
สิ่งที่ต้องติเป็นอันดับแรก ก็คือมิติของตัวรถที่สูง และ "หนักมาก" ในยามที่บรรทุกเต็มอัตรารวมคนซ้อน ซึ่งในช่วงแรกผมเองก็ยังจับจังหวะไม่ได้ แต่พอผ่านไปซักหนึ่งวัน เริ่มมีความคุ้นเคยกันมากขึ้น จนรู้จังหวะในการบังคับมันให้เป็นไปอย่างใจที่ต้องการ อันดับที่สองที่คนทั่วไปอาจจะต้องติก็คือ "ความแรง" ของเครื่องยนต์ แต่สำหรับผมกลับรู้สึกว่า R1200GS Adventure มีความแรงของเครื่องยนต์ขนาดนี้อยู่ในระดับที่ "กลมกล่อม" แล้วครับ เพราะทางตรงๆ ไกลๆ ใครจะบ้าพลังก็ปล่อยเค้าไปเหอะ เราเน้นขี่เนิบๆ สบายๆ แต่ถ้าถึงทางโค้งเมื่อไหร่ R1200GS Adventure กล้าท้าชนได้ทุกตัว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณต้องปรับเซ็ทช่วงล่างให้พอดี เข้าใจระบบและระยะเบรคของมันให้ถ่องแท้เสียก่อน แล้วมันจะพาคุณทะยานไปได้พลิกพริ้วอย่างที่คนขี่รถสปอร์ทคาดไม่ถึงเลยทีเดียว และถึงวันนี้ผมก็ได้รับคำตอบจากคำถามที่ค้างคาอยู่ในใจมานาน ว่าสายพันธ์นี้ของค่ายใบพัดสีฟ้ามันดีขนาดไหน ทำไมจึงขายดี และเป็นที่ต้องการของนักเดินทางทั่วโลก...
เป็นอีกครั้งนึง ที่ผมขี่รถบนเส้นทางแม่ฮ่องสอนแล้วมีความสุข จากบรรยากาศเย็นๆของสายฝน โดยมี R1200GS Adventure เป็นพาหนะที่อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้อย่างชนิดที่ "วางใจได้" และถ้าถามว่า ถ้ามีเงินจะซื้อเจ้าตัวนี้มาขี่ไหม...ตอบได้อย่างไม่ต้องลังเลครับว่า...ไม่น่าพลาด ! .....แต่ถ้าเจ้า R1200GS Adventure มีระบบ Cruise Control ติดมาให้ด้วยจากโรงงาน ปีหน้าได้เสียตังค์แน่ครับ (ข้อมูลทางเทคนิค)
|