สัมผัสที่ได้จากการขับขี่ ….
ความเห็นความรู้สึกของ Co-Riders กับพญาแตนไฟ 07 ตัวนี้ |
BANANA
|
RIDER 11
|
อึดใจแรกที่หย่อนตัวลงบน Hornet 600 ปี 2007 คันนี้ รับรู้ได้ถึงความกระชับ ตำแหน่ง Riding Position ที่เข้ากันได้ดีกับชาวเอเชียอย่างเรา ตำแหน่งแฮนเดิ้ลบาร์อยู่ในระดับที่สบาย แขนไม่ตึง ไม่หย่อน แนวกระดูกสันหลังผ่อนคลายไม่ต้องเกร็งตัว ตำแหน่งพักเท้าไม่ทำให้รู้สึกปวดชาเวลาวางเท้าไว้นานๆ ทัศนวิสัยด้านหน้ารถ โล่ง มองเห็นช่องแสดงฟังก์ชั่นบนชุดเรือนไมล์ได้ถนัดตาแค่เหลือบตามองนิดเดียว โดยที่ไม่ต้องผงกทั้งใบหน้าลงไปมอง งัดขาตั้งขึ้น ตั้งรถให้ตรง เปิดสวิทช์กุญแจ ตรวจดูไฟแสดงเกียร์ให้อยู่ในตำแหน่งเกียร์ว่าง แล้วจึงกดปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์เบาๆ ปลุกให้เครื่องยนต์อันทรงพลังที่ยกมาจากสุดยอดรถสปอร์ทพิกัดกลาง CBR600F4i ที่ประจำการอยู่ในเจ้าตัวนี้ได้ทำงาน มีเสียงกระหึ่มแบบสุภาพออกมาจากท่อไอเสียทรงสั้นกุด จากนั้นก็เหลือบมองดูกระจกส่องหลังทั้งสองข้าง เพื่อตรวจดูรถด้านหลัง สุดท้าย ก็หันไปมองด้านหลังอีกครั้ง ก่อนที่จะค่อยๆตบเกียร์ และปล่อยคลัทช์ออกไป เนื่องจากไรดิ้งโพสิชั่นที่ออกแบบมาให้คนเอเชียหรือคนยุโรปตัวเล็กๆขี่ได้ง่าย ทำให้ผมไม่ต้องกังวลกับท่านั่งขณะขับขี่มากนัก จนสามารถสะกดสมาธิทั้งหมดให้ไปสัมผัสกับฟีลลิ่งที่ปลดปล่อยออกมาจากเครื่องยนต์ทรงพลังได้เต็มที่
สิ่งแรกที่ทำให้เกิดอาการทึ่ง บนรถรุ่นนี้ก็คือ เรื่องการเบรค จากประสิทธิภาพของ DCBS ที่ยกชุดคาลิเปอร์เบรคหน้ามาจาก CBR1100XX ทั้งชุด และเสริมด้วย ABS ที่ช่วยเรื่องความปลอดภัยในการเบรคแบบกระทันหัน โดยทดลองกดคันเร่งจนตัวเลขความเร็วขึ้นสูงที่ละนิด แล้วเปรียบเทียบประสิทธิภาพการเบรค ในช่วงความเร็วที่ต่างกัน ได้ผลเป็นที่น่าประทับใจ ชนิดที่ไม่เคยเจอมาก่อนจากประสบการณ์ขี่รถพิกัดนี้ อันดับต่อไปคือการทดลองเรื่องประสิทธิภาพการทรงตัว การพลิกพริ้วในโค้ง โดยทดลองเข้าโค้งแบบปกติ สามารถทำได้อย่างง่ายดาย อาจเป็นเพราะอีตาเกียร์ 7 ปรับตั้งช๊อคอัพหลังมาให้แล้ว จากนั้นก็ทดลองทรมานรถด้วยการเปลี่ยนไลน์การขี่แบบฝืนธรรมชาติ เบรคให้ลึก ฝืนความรู้สึกเข้าโค้งในไลน์ที่แคบที่สุด รวมไปถึงการกระแทกคันเร่งออกจากโค้งแบบรุนแรง เพื่อทดสอบประสิทธิภาพระบบช่วงล่างบนตัวรถ ว่าจะทำงานสมดุลย์กันได้ขนาดไหน ปรากฎว่า ไม่มีอาการอะไรให้เป็นที่สยองพองขน มันสามารถตอบสนองความต้องการในการขี่ได้ดั่งใจ บนตัวรถที่เล็กกระทัดรัดแต่แข็งแรงและทรงประสิทธิภาพ
สิ่งเดียวที่ไม่ได้ทดลองทำในการทดลองขี่คราวนี้ ก็คือการทดสอบการขับขี่ที่ความเร็วสูงๆ เพราะรถที่ไม่มีชุดพลาสติคแฟริ่งด้านหน้าไว้สำหรับรีดลมประทะด้านหน้าแบบนี้ น่าจะทำให้ผู้ขับขี่เกิดอาการคอเคล็ด ในกรณีที่ขับขี่ด้วยความเร็วสูงเป็นเวลานานๆ แต่ก็นั่นแหละครับ มันอาจจะไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการออกแบบรถรุ่นนี้เท่าใดนัก เพราะผมมองว่า มันถูกออกแบบมาให้สำหรับการขับขี่ที่ไม่เน้นการใช้ความเร็วสูงเป็นเวลานานๆอย่างการเดินทางไกล แต่มันเหมาะกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน การพลิกรถอย่างว่องไวในสภาพจราจรในเมือง อัตราเร่งจี๊ดจ๊าดไว้เร่งแซงยามคับขัน ระบบเบรคที่แม่นยำสำหรับสารพัดอุปสรรคบนถนน และรูปทรงโฉบเฉี่ยวเปรี้ยวจี๊ด เชิญชวนให้สาวๆซี๊ดปาก ให้อยากโดนแตนตัวนี้ต่อยซักครั้ง !
|
แวบแรกที่เห็น รู้สึกไม่ค่อยชอบหน้าตาเจ้า Hornet ตัวนี้ซักเท่าไหร่ เพราะตรงบริเวณเรือนไมล์เหมือนเอามาวางแปะไว้บนไฟหน้าเฉยๆ แต่พอได้ลองคล่อมรถดูแล้วรู้สึกได้เลยว่าฮอนด้ายังคงรักษาคอนเซ็ปต์ User friendly ไว้เหมือนเดิม ด้วยท่านั่งที่ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติไม่ต้องฝืนส่วนใดของร่างกาย ทั้งแขน, ขา และหลัง ตามสไตล์รถประเภทสปอร์ตเปลือยแต่รู้สึกกระชับและพร้อมที่จะ "เล่น" ได้ทุกเมื่อ
สำหรับผมจริงๆแล้วครั้งนี้ถือว่าเป็นการขี่รถขนาด 600 ซีซี แบบเป็นเรื่องเป็นราวครั้งแรก ต้องยอมรับว่ารถคลาสนี้เหมาะกับสัดส่วนของคนไทยและสภาพถนนบ้านเราจริงๆ กำลังเครื่องของเจ้าพญาแตนตัวนี้ถือว่ากำลังพอดีที่จะขี่ได้อย่างสนุกคือสามารถควบคุมได้ง่าย และมีรอบให้เล่นได้กว้างมากโดยสามารถลากขึ้นไปเล่นกันได้แบบไม่ต้องยั้งเหมือนคลาส 400 ที่เราเคยคุ้นเคยกัน แต่แนะนำว่าถ้าจะให้มันส์แบบติดมือคงต้องมีรอบในมือไม่ต่ำกว่า 8,000 รอบต่อนาที ในส่วนของเบรกไม่ต้องห่วงเลยสำหรับรถค่ายนี้ ยังคงชัวร์และนุ่มนวลเหมือนเดิม ระบบกันสะเทือนหลังจากปรับโดยฝีมืออาจารย์ปู่ (gear7) มันทำงานคู่กับยางเดิมติดรถได้อย่างน่าประทับใจแม้จะขับแบบดุดันสไตล์เรซซิ่ง การคอนโทรลพลิกพริ้วรถ เป็นไปอย่างไม่น่าเชื่อว่ามันจะง่ายดายและเชื่องมือขนาดนั้น สามารถเปลี่ยนไลน์ในโค้งได้อย่างใจต้องการตลอดเวลา ซึ่งนั่นจะช่วยได้มากเวลาที่อยู่ในโค้งแล้วจะต้องหลบบรรดาอุปสรรคบนถนนบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็น หลุม, เศษหิน, ขี้วัว, ฯลฯ
สรุป - จุดเด่นของเจ้า hornet คันนี้ คือสมรรถนะโดยรวมของตัวรถที่สามารถใช้งานได้ค่อนข้างหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นขี่ในเมืองที่ต้องการความคล่องตัวที่ความเร็วต่ำหรือเอาไปขี่เล่นโค้งในวันหยุด กำลังเครื่องที่มือใหม่ซึ่งเพิ่งเริ่มเล่นรถสามารถขี่ได้อย่างไม่ต้องเครียด ปรับตัวเข้าหาตัวรถได้ในเระยะเวลาอันสั้น ในขณะที่บรรดามือเก๋าวิทยายุทธ์สูงก็สามารถสนุกกับมันได้ในทุกๆ สภาพการขับขี่ ปล.ข้อเสียข้อเดียวของการทดสอบเจ้าตัวนี้ในวันนั้นสำหรับผมคือ ไม่ได้เอาชุดหนังไป!!!
|
การตอบสนองของเครื่องยนต์
แม้ว่าจะเป็นเพียงแค่ Naked Bike แต่เครื่องยนต์ของพญาแตน Hornet ปี 2007 ใช้พื้นฐานของรถสปอร์ตยอดนิยมอย่าง CBR600RR ที่ได้ปรับดีไซน์เข้ากับเทรนด์ของรถได้อย่างลงตัวมากโดยเฉพาะท่อไอเสีย ที่ลดขนาดความยาวของท่อให้สั้นลงพร้อมแคดตาไลติกตัวใหญ่ไว้ใกล้จุดศูนย์ถ่วงหลักของรถ ทำให้ตัวรถค่อนข้างแคบและมั่นคง เครื่องยนต์นั้นตอบสนองได้ดีมากนุ่มนวลในรอบต่ำถึงปานกลาง แต่ถ้าต้องการเรียกม้ามาใช้งานเมื่อไหร่ได้เลยเครื่องยนต์จะเริ่มตอบสนองเต็มที่ไม่มีอาการอึ๊กอักจึกจั๊ก ตั้งแต่ 8 พันรอบขึ้นไป และแม้ว่าจะมี แคตตาไลติกที่ท่อไอเสีย แต่สุ้มเสียงของมันยังมีให้ได้ยินแบบไพเราะเสนาะหู เพราะการลดความยาวของปลายท่อลงทำให้สุ้มเสียงมันดุดันขึ้นมาไม่น้อย
พลิกพริ้วรวดเร็วในโค้ง แต่มั่นคง
สำหรับถนนในเมืองไทยแล้ว รอบเครื่องยนต์และการตอบสนองของเกียร์เหมาะมากๆ เรียกว่าใช้คันเร่งได้เต็มที่กว่ารถตัวพัน ใครที่เคยขับรถยอดนิยมอย่าง CB400SF มาก่อนคุณจะปรับตัวเข้ากับมันได้อย่างรวดเร็ว จุดเด่นของมันคือการให้ยางหน้ากว้างเท่ากับรถสปอร์ตตัวกลั่นอย่าง CBR600RR คุณแทบไม่ต้องพะวงเรื่องความหนึบของมันจะรับม้าร้อยตัวได้หรือไม่ ขอเพียงคุณเช็คลมยาง และสภาพยางทุกครั้งก่อนจะเอามันไป "หวด" เท่านั้น.... ในโค้งทุกแบบที่ผมได้เทสต์คราวนี้ทั้งขึ้นเขาลงเขา ทำได้ดีมากยกเว้นแต่ว่าคุณจะต้องปรับตัวไม่ขี่มันแบบสปอร์ตจ๋าเกินไป ใครที่ชอบใช้วิธีเข้าแคบๆ ทิ่มลึกๆ เบรกหนักๆ เห็นที่อาจจะต้องผ่านไปมองหา CBR600RR แทนรถอเนกประสงค์อย่างเจ้าพญาแตนตัวนี้ อีกประการหนึ่งคือมันเป็นรถที่เข้าไลน์ได้แม่นยำมาก แม้ว่าจะลองเข้าไปเปลี่ยนไลน์กลางโค้งเพื่อหลบอุปสรรค์ต่างๆบนถนนยามฉุกเฉินก็ตาม
ความสบายในยามขับขี่
อย่างที่บอกไปแล้วพญาแตนไฟตัวนี้เป็น Naked Bike ที่ใช้งานได้เอนกประสงค์ คุณสามารถขี่ใช้งานในเมือง เดินทางท่องเที่ยว ขี่กินลมชมวิว หรือแม้แต่เอาไปขี่เล่นในสนามแข่งได้ยามว่าง เมื่อวิ่งในความเร็วต่ำๆ จะใช้แรงคุมรถน้อยมาก วงเลี้ยวแคบกว่าที่คิด ส่วนในความเร็วปานกลาง 80-140 กม./ชม. นิ่งสนิท ส่วนความเร็วที่เกินกว่านั้นคุณอาจจะต้องออกแรงปะทะลมบ้างซึ่งถือเป็นธรรมดาสำหรับ Naked bike
เบรก COMBINED-ABS (ABS + D-CBS) สั่งได้ “สุดตรีน”
ต้องขอย้อนมาเรื่องเบรกอีกที ด้วยน้ำหนักรถขนาดกลางน้ำหนักตัว 170-190 กิโลกรัม กับเบรกที่ให้มาเต็มที่กับ ABS และ D-CBS ถือว่า "เหลือๆ..". ขนาดตอนฝนตกๆทางไปอำเภอศรีสวัสดิ์ ลองกดเบรกหนักๆก็ยังไม่มีอาการว่าจะเหวอให้เห็น โดยส่วนตัวจริงๆแค่ D-CBS อย่างเดียว ระบบ ABS ก็แทบจะไม่ได้ทำงานแล้ว Honda ให้อาวุธพญาแตนขนาดนี้ พูดได้คำเดียวว่าชอบจริงๆ.....
ข้อสังเกต... !!
พูดถึงข้อดี เดี่ยวจะหาว่าผมเชียร์อย่างเดียวข้อติเองก็มี แต่เป็นข้อติดที่ไม่มีอะไรร้ายแรง เป็นข้อสังเกตการปรับตั้งค่าที่มากับรถมากกว่า
ค่าเดิมๆ ช๊อกอัพหลัง.. ท้ายย้วย ?!
ช่วงที่รับรถมาผมได้ลองเอามันไปเล่นโค้งดูบ้าง พบว่ามันมีอาการ "ท้ายย้วย" เลยลองเอาเข้ามาปรับสปริงที่ช๊อกหลังใหม่ ซึ่งค่าเดิมปรับระดับความแข็งอ่อนมาแค่ระดับ 2 จาก 7 ระดับ ผมเลยลองปรับมันไล่ขึ้นไประดับ 3-4 แล้วลองใหม่ ปรากฏว่าอาการท้ายย้วยเวลาพลิกเข้าโค้งหายไป ซึ่งถ้าคุณได้พญาแตนไฟตัวนี้มาครอบครองครั้งแรก ควรพิจารณาปรับค่าสปริงตัวนี้สักนิด และก็ไม่ควรที่จะปรับมันให้สูงเกินกว่าระดับ 5 (อันนี้ขอแนะนำ) เพราะจะทำให้ล้อหลังกลับมีอาการสับในโค้งสรุปว่าเวิร์คที่สุดคือ ระดับ 3-4 ซึ่งอันนี้แล้วแต่ชอบครับ
ถ้ารอบเดินเบาสูงเกินไป จะปรับยังไง ?
อันนี้เป็นคำถามตามสเป็คบอกว่าเมื่อเครื่องยนต์พร้อมทำงานเต็มที่รอบเดินเบาหรือ Idle Speed จะอยู่ที่ 1,350 รอบ/นาที แต่เจ้าคันที่ผมได้ลองเทสต์มันน่าจะขึ้นมาถึง 1,450 รอบ/นาที ทำให้เวลาจอดติดไฟแดงหรือแทรกตัวไประหว่างรถติดๆพัดลมหม้อน้ำแทบจะทำงานตลอดเวลา (พัดลมไฟฟ้าทำงานเมื่อหน้าปัดแสดงอุณหภูมิที่ 107 องศา) พยายามสอบถาม นายเตียเรื่องการปรับรอบเดินเบา ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะปรับมันได้อย่างไร เนื่องจากรถยังใหม่มากคู่มือบริการต่างๆยังไม่มี
|
|
เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ชาวสตอร์มที่มาช่วยให้การลองของครั้งนี้ประสบความสำเร็จ
|
นายเตีย จาก AP Honda ที่กล้าวัดใจนำพญาแตนไฟ ปี 2007 มาให้ลอง
|
สุดท้ายนี้ต้องขอบคุณนายเตีย จาก AP Honda ที่กล้าวัดใจให้ผมลองขี่เจ้าพญาแตนไฟตัวนี้แบบเต็มที่... ขอบคุณพี่น้องผองเพื่อน ที่ช่วยกันเป็นตากล้องและขับรถยนต์บริการช่างภาพด้วยความเฮฮา... หวังว่าทริปหน้ามีโอกาสคงได้เจอกันอีกครับ
หน้าถัดไป >> ข้อมูลทางเทคนิค
|