สัมผัส KTM 990 Adventure
ตลาดรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ที่เน้นใช้งานเพื่อการเดินทางท่องเที่ยวของเมืองไทยที่ต้องยอมรับว่ามีค่าย BMW ในตระกูล R1200GS/GSA เป็นผู้ครองตลาดมาร่วม 7 ปี และในวันนี้เริ่มมีผู้ส่งตัวคู่แข่งขึ้นท้าชิงสังเวียนแห่งความสนุกในการเดินทางโดยค่ายคุณค่า มอเตอร์ไซเคิล ได้นำเข้ารถจักรยานยนต์แบรนด์ KTM จากประเทศออสเตรีย มาเพิ่ม "โอกาสในการเลือก" ของผู้ใช้รถในเมืองไทย ซึ่งใน Special Scoop หนนี้ เราจะมาค้นหากันว่า KTM 990 Adventure สีส้มจี๊ดคันนี้ มีดี มีจุดเด่นในด้านไหน ที่จะกระชากใจ กระชากเงินออกจากกระเป๋าของผู้ที่กำลังตัดสินใจก้าวเข้าสู่หนทางของการท่องเที่ยวแบบสัมผัสธรรมชาติซึ่งยากนักที่รถรุ่นอื่นจะเข้าถึงได้
|
รูปทรงด้านหน้ารถที่ถอดแบบมาจากรถแข่ง Dakar ซึ่งตอบโจทย์การใช้งานในการเดินทางทุกสภาพถนนได้อย่างแท้จริง พร้อมโคมไฟหน้าเรียงสองชั้น สอดรับกับงานดีไซน์ที่กลายเป็นเอกลักษณ์ |
|
มุมมองจากผู้ขับขี่ที่โล่งตา เพราะมีการออกแบบเผื่อไว้สำหรับกรณีที่ต้องติดตั้งอุปกรรืเสริมเพื่อช่วยในการเดินทาง แฮนเดิ้ลบาร์มีขีดบอกระดับองศาความเอียงเพื่อง่ายต่อการปรับให้เหมาะต่อสรีระและรูปแบบการใช้งาน รวมถึงปุ่มปรับช๊อคอัพหน้าที่ออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่ายที่สุด |
|
ชุดเรือนไมล์ขนาดกระทัดรัด เน้นเฉพาะฟังก์ชั่นที่จำเป็นต่อการใช้งานจริงๆ โดยเฉพาะการเปิด/ปิดระบบเบรค ABS. และช่องเสียบสายไฟสำหรับอุปกรณ์เสริมที่อยู่ข้างเรือนไมล์ |
|
ช่องเก็บของขนาดเล็กอยู่ด้านบนถังน้ำมันที่แบะฝาถังออกสองข้าง ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่น่ารำคาญในเวลาเติมน้ำมัน เพราะต้องเติมทั้งสองฝั่ง แต่เวลาใช้งานมันจะดูดไปใช้เองจากทั้งสองฝั่ง และที่สำคัญก็คือก่อนการใช้งานครั้งแรก ควรอ่านคู่มือประจำรถเรื่องวิธีการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงให้ละเอียดเสียก่อน เพราะไม่เช่นนั้นจะไหลเลอะเทอะ |
|
รูปทรงถังน้ำมันเชื้อเพลิงที่แบ่งเป็นสองฝั่งและย้ายตำแหน่งกักเก็บลงมาด้านข้างเฟรม ในตำแหน่งใกล้พื้นมากกว่ารุ่นอื่น ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้เจ้าตัวนี้สามารถควบคุมได้ง่ายจากการย้ายจุดศูนย์ถ่วงถังน้ำมันนี่เอง |
|
รูปทรงตัวรถด้านท้ายที่ทำมาให้เพรียวบาง เหลือพื้นที่สำหรับติดตั้งอุปกรณ์เสริมในการบรรทุกสัมภาระได้หลากหลาย |
|
แผงรังผึ้งหม้อน้ำถูกปกป้องไว้ด้วยการ์ดพลาสติคที่มีครีบเอียงออกด้านข้าง ซึ่งสามารถป้องกันโคลนอุดตันได้ดีกว่าแบบเปลือยโล่ง รวมถึงการย้ายถังพักน้ำมันเครื่องมาไว้ด้านหน้าเครื่องยนต์ ซึ่งอาศัยลมผ่านช่วยลดอุณหภูมิเวลาใช้งาน |
|
ระบบช่วงล่างของค่ายนี้ผูกขาดสัมปทานโดย WP แบรนด์ชั้นนำจากออสเตรีย ซึ่งสร้างชื่อไว้โด่งดังจากสังเวียนทางฝุ่น และช๊อคอัพหลังที่ติดตั้งใน 990 Adventure ตัวนี้ สามารถปรับตั้งได้ง่ายดาย สะดวกต่อการใช้งานมาก |
|
เครื่องยนต์สายพันธ์ LC8 แบบวีทวิน เอียง 75 องศา ซึ่งมีการพัฒนามาจนสมบูรณ์สุด โดยมีจุดเด่นเรื่องพละกำลังที่สามารถปรับเปลี่ยนได้หลากหลาย ความทนทรหดในการใช้งาน และง่ายต่อการดูแลรักษา มากกว่าคู่แข่งรายอื่น รวมถึงเฟรมโครโมลี่อย่างหนา พ่นสี Powder Coat ซึ่งทนทานต่อแรงขูดขีดและดูแลรักษาง่าย |
|
จานเบรคหน้าคู่ติดตั้งบนวงล้ออลูมิเนียมก้านซี่ลวด ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้สำคัญสำหรับรถที่เกิดมาลุยบนทุกสภาพถนน พร้อมระบบเบรค ABS. อันทรงคุณภาพที่ใช้งานคาลิเปอร์ค่าย Brembo ส่วนปั๊มไฟฟ้าควบคุมจากค่าย Bosch ซึ่งมั่นใจได้ในประสิทธิภาพการหยุดรถบนถนนดำ รวมถึงการปลด ABS. ที่ใช้ในทางเอ็นดูโร่ ระบบเบรคขนาดเล็กของ Brembo ยังคงให้ประสิทธิภาพที่ปลอดภัย |
|
ท่อไอเสียยกสูงออกใต้ท้ายรถทั้งสองข้าง สุ้มเสียงแหบพร่าอันเนื่องมาจากข้อบังคับเรื่องมลพิษ แต่ถ้าอยากให้สนุกต้องเปลี่ยนปลายเป็นท่อโล่ง ซึ่งจะเปลี่ยนบุคคลิกของรถและการขับขี่ไปในทันที |
สายพันธุ์ KTM Adventure
เริ่มเปิดตัวสู่สายตาสิงห์นักบิดชอบผจญภัยเป็นครั้งแรกในปี 2003 ด้วยเครื่องยนต์รหัส LC-8 โดยมีความจุที่ 950 ซีซี และปรับเปลี่ยนความจุให้ขยับขึ้นเป็น 999 ซีซี ในปี 2007 และเปลี่ยนชื่อรุ่นมาเป็น 990 Adventure โดยที่จุดเด่นของรถสายพันธุ์นี้สามารถกระแทกสายตาผู้พบเห็นในครั้งแรกด้วยรูปทรงที่แปลกตากว่ารถตลาดทั่วไป ซึ่งถ้าย้อนไปถึงที่มาของแนวความคิดของงานดีไซน์บนรถรุ่นนี้ก็จะไม่แปลกใจ เพราะทุกอย่างถูกโคลนนิ่งมาจาก Concept ของสายพันธุ์รถแข่งแรลลี่อันหฤโหดที่สุดในโลกอย่าง Dakar Rally ซึ่งรถที่ลงแข่งขันทุกคันจะถูกออกแบบและปรับแต่งให้ตอบสนองการใช้งานในการแข่งขันบนสมรภูมิ หรือภูมิประเทศที่หลากหลายอันหฤโหด โดยมีโจทย์หลักแค่ไม่กี่ข้อ นั่นคือ แรง เร็ว กระทัดรัด และง่ายต่อการเซอร์วิสหรือซ่อมแซมยามที่เกิดปัญหา ซึ่ง KTM ได้ส่งรถลงแข่งขันจนประสบความสำเร็จในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนแทบจะกลายเป็นสัญลักษณ์ไปแล้วว่ารถในสไตล์การใช้งานรูปแบบนี้จะต้องถูกออกแบบมาในรูปแบบสูง โล่ง โปร่ง แคบ ตามสไตล์ของรถ KTM ที่ชนะเลิศรายการนี้ต่อเนื่องมาหลายปีนั่นเอง
โครงสร้างของตัวรถ
ใช้เฟรมโครโมลี่ทรงกลมเชื่อมต่อจุดยึดอย่างแน่นหนา ยึดหิ้วเครื่องยนต์สี่จังหวะ แบบวีทวินรหัส LC-8 ที่มีความเอียงระหว่างสูบอยู่ที่ 75 องศา ปริมาตรความจุกระบอกสูบ 999 ซีซี ระบายความร้อนด้วยน้ำ มีระบบจ่ายเชื้อเพลิงด้วยชุดหัวฉีด Keihin EMS. อันเป็นต้นกำเนิดของม้าออสเตรียทั้ง 105 ตัว ลงสู่พื้นช่วยขับดันตัวรถน้ำหนักเปล่า 209 กิโลกรัมทะยานไปบนเส้นทางที่แตกต่างจากที่รถประเภทอื่นสามารถทำได้อย่างสนุก เร้าใจ และปลอดภัยจากพลังที่มีมาให้ชนิดที่เรียกว่า "กลมกล่อม" พอดีกับการใช้งานรถในสไตล์นี้ โดยที่เครื่องยนต์บล๊อคนี้ยามที่มันถูกยัดลงในรถ Sport Replica ร่วมค่ายอย่าง RC8R ซึ่งได้รับการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ภายในใหม่หลายชิ้นส่วน มันก็สามารถทะยานไปได้ถึง 173 แรงม้า นั่นแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของพื้นฐานเครื่องยนต์บล๊อคนี้ที่จัดอยู่ในประเภท "อึด" และมีช่วงการใช้งานที่ค่อนข้างกว้าง ตามแต่การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ภายในให้เข้ากับประเภทของรุ่นรถที่นำไปติดตั้ง เพื่อตอบสนองการใช้งานแตกต่างวัตถุประสงค์กันไป
จากเอกลักษณ์ของดีไซน์ตัวรถที่แตกต่างจากรถค่ายอื่น
โดยมีสิ่งที่โดดเด่นที่สุดคือถังน้ำมันขนาดความจุ 20 ลิตร ซึ่งแบ่งออกเป็นสองห้องเก็บกักน้ำมันเชื้อเพลิง ประกบเฟรมและเครื่องยนต์ลงมาด้านข้าง ส่งผลให้พื้นที่เหนือถังน้ำมันมีพื้นที่เหลือเฟือในการติดตั้งอุปกรณ์เดินทาง หรือเป็นพื้นที่ว่างในการเคลื่อนตัวของผู้ขับขี่สำหรับสถานการณ์ที่ต้องผ่านอุปสรรคแล้วต้องขยับตัวเพื่อควบคุมรถให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยความง่ายดาย ซึ่งข้อดีของการย้ายตำแหน่งจุดรวมน้ำหนักของน้ำมันเชื้อเพลิงลงไปด้านล่างให้ใกล้พื้นก็คือระดับจุดศูนย์ถ่วงของรถที่ต่ำ ส่งผลให้ขับขี่ง่ายขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับรถน้ำหนักเกิน 200 กก. ซึ่งส่วนใหญ่จะมีถังน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ด้านบน จนส่งผลต่อการควบคุมรถ การเอียงรถที่ต้องกระทำแบบฉับพลันบนสภาพเส้นทางที่รถประเภทนี้ใช้งานนั่นเอง
ตัวรถที่สูงโปร่งโล่งตา
เกิดจากการถูกบังคับสายตาในยามพบเห็นด้วยดีไซน์ของชุดไฟหน้าที่สอดรับกลมกลืนกับรูปทรงของถังน้ำมันเชื้อเพลิง โดยที่ชุดโคมไฟหน้ายกสูง เมื่อมองจากด้านหน้ารถจะเป็นทรงเรียวแคบ เพราะใช้โคมไฟสองดวงวางซ้อนกันในแนวตั้ง ระนาบผิวของโคมไฟหน้าอยู่ในแนวเดียวกับชุดพลาสติคและแผ่นบังลมหน้ารถที่ดีไซน์ให้มีทรงแบนแคบ และแทบจะเป็นแนวตั้งฉากกับพื้นโลกในขณะขับขี่ ซึ่งอาจเป็นที่สงสัยของหลายคนว่ามันไม่น่าจะช่วยในเรื่องอากาศพลศาสตร์ แต่ในความเป็นจริงของงานดีไซน์ของรถประเภทนี้จะต้องทำมาเพื่อตอบสนองการใช้งานจริงขณะขับขี่ที่ต้องผ่านอุปสรรค จำเป็นต้องมีการยืนขับขี่ในบางช่วงเพื่อมองให้เห็นอุปสรรคด้านหน้าด้วยความเร็วต่ำ เพื่อเตรียมแก้ไขปัญหาอันจะส่งผลต่อความปลอดภัยของตัวรถและผู้ขับขี่เอง ซึ่งถ้าเป็นการนั่งขับขี่บนถนนดำ แนวระดับของชุดโคมไฟหน้าและแผ่นบังลมที่มีแนวระดับคล้ายกระจกหน้าของรถยนต์ก็สามารถบังคับทิศทางลมที่มาปะทะหน้ารถให้พ้นข้ามศีรษะผู้ขับขี่ไปได้ตามปกติ และตามหลักการออกแบบของรถรุ่นนี้ที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับการขับขี่ด้วยความเร็วสูง ฉะนั้นงานดีไซน์บนตัวรถโดยรวมทั้งหมดจึงแลดูแปลกตากว่ารถค่ายอื่นที่เราคุ้นเคยกันนั่นเอง
ผมรับรถ KTM 990 Adventure จากบริษัท คุณค่า มอเตอร์ไซเคิล ด้วยสภาพของรถที่ยังสดใหม่ มาพร้อมโครงเหล็กกันล้ม และโครงเหล็กท้ายสำหรับยึดติดกระเป๋าสัมภาระ ซึ่งก็ได้รับความอนุเคราะห์จากคุณพีระ เลาหกานต์นิยม เจ้าของ Touratech Thailand ที่มอบกล่องอลูมิเนียมสัมภาระสำหรับติดตั้งข้างรถ รวมถึงกระเป๋าผ้าสำหรับติดตั้งบนกล่อง และกระเป๋ากันน้ำใบใหญ่เพื่อให้นำไปติดตั้งบนตัวรถในรูปแบบของการจำลองการใช้งานจริงเพื่อการเดินทางท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ เพราะเส้นทางที่วางไว้สำหรับการทดสอบในครั้งนี้คืออำเภอแม่สอด อำเภอท่าสองยาง และอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ท่ามกลางฤดูฝนที่เริ่มมาเยือนตอนปลายเดือนมีนาคม โดยในการเดินทางครั้งนี้ยังมีรถติดตามเพื่อทดสอบจากค่าย KTM อีกสองคัน นั่นคือ 690 Enduro และ 990 SMT รวมไปถึง Ducati Multistrada 1200S โดยคุณเม้งขับขี่มาร่วมขบวนทดสอบที่แยกตัวเมืองตาก เพื่อร่วมตะลุยทุกสภาพถนน ทุกสภาพอากาศตลอดทริป ซึ่ง KTM 990 Adventure ออกเดินทางจากกรุงเทพด้วยสัมภาระเต็มพิกัด ยัดแน่นกระเป๋าทุกใบด้วยอุปกรณ์ถ่ายภาพและเครื่องมือเซอร์วิสรถที่ต้องเตรียมไปเต็มที่ เนื่องจากเราวางแผนที่จะนำรถทุกคันในทริปนี้ตะลุยอย่างที่ไม่เคยมีผู้ทดสอบรถค่ายใดในเมืองไทยทดลองทำมาก่อน นั่นคือการทดสอบทั้งบนถนนดำทางตรงยาวๆ ร่วม 900 กม. ถนนดำในโค้งคดเคี้ยวร่วม 300 กม. รวมถึงทางลูกรัง ทางดินในป่า และที่สำคัญคือดงก้อนหินท่ามกลางสายน้ำในลำธารต้นฤดูฝนในป่า ซึ่งการทดสอบหนนี้ต้องขอขอบคุณบริษัท คุณค่า มอเตอร์ไซเคิล โดยคุณยุทธ ซึ่งเอ่ยปากมาว่า " เต็มที่เลยพี่ จะได้รู้กันไปเลยว่าเป็นอย่างคำโฆษณาสรรพคุณของฝรั่งหรือปล่าว "
ถนนยางมะตอยสีเทาเจือดำจากกรุงเทพสายรังสิต - นครสวรรค์ที่มีสภาพพื้นผิวเรียบแน่น สามารถทำความเร็วได้ดีกับรถสปอร์ตพลังสูง แต่กับ KTM 990 Adventure ซึ่งถูกออกแบบมาให้ใช้งานที่ความเร็วปานกลาง แถมงวดนี้ยังมีอุปกรณ์พ่วงเต็มพิกัด โดยเฉพาะกล่องอลูมิเนียมด้านข้างที่ต้านลม เพราะระนาบเรียบของข้างกระเป๋าซึ่งหันออกด้านหน้าของรถปะทะสายลมที่ถูกตัวรถแหวกออกด้านข้างจนเกิดอาการต้านลมจนรู้สึกได้ในเวลาที่กระแทกคันเร่งขึ้นรอบสูงแล้วยกคันเร่งทันที ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ส่งผลต่อการทรงตัวของรถนั่นก็คือการบาลานซ์น้ำหนักสัมภาระในกล่องทั้งสองข้างที่ต้องสมดุลย์กันจะทำให้รถไม่เสียอาการ หรือไม่ออกอาการเป๋ชวนพับในเวลาที่ยกคันเร่งแล้วต้องเปลี่ยนไลน์ขับขี่ หรือจังหวะพับรถแทรกไปในระหว่างรถยนต์ ซึ่งอาการที่ว่านี้ที่เกิดกับ KTM 990 Adventure น้อยกว่ารถรุ่นอื่นอยู่พอสมควร อันเนื่องมากจากการออกแบบให้
ระดับถังน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ต่ำ ทำให้จุดศูนย์ถ่วงรถต่ำลงไปกว่ารถทั่วไป จนส่งผลต่อการควบคุมรถที่ทำให้ควบคุมรถได้ง่ายขึ้นจนน่าแปลกใจกับรถที่มีน้ำหนักตัวรวมสัมภาระเกิน 250 กิโลกรัมอย่างที่ผมขับขี่ในวันนี้ ซึ่งระบบช่วงล่างบนตัวรถ KTM 990 Adventure คันนี้ที่ถูกปรับตั้งมาแล้ว และถูกระบุไว้ว่าเหมาะสำหรับการขับขี่ความเร็วสูง ซึ่งจากการทดลองกระชากความเร็วขึ้นไปแตะ 160 กม./ชม. แล้วปิดคันเร่งทันที เพื่อทดสอบอาการของช่วงล่าง และการทดลองปิดคันเร่งแล้วเบรคกระทันหันแบบ " กำหมด" ก็พบว่าระบบช่วงล่างที่ถูกปรับตั้งมาจากโชว์รูมตอนที่รับรถมา ทางคุณยุทธแจ้งมาว่ามีการปรับช่วงล่างให้ลูกค้าการทดลองขี่ในลานจอดของบริษัทเป็นระยะทางสั้นๆ ความเร็วไม่สูง และแนะนำให้ผมทดลองขับขี่และปรับตั้งใหม่ในระหว่างการทดสอบเพื่อหาค่าที่เหมาะสมในการใช้งานบนถนนจริงอีกครั้ง ซึ่งค่าที่ปรับตั้งมาจากโชว์รูมยังไม่สมดุลย์กับการขับขี่บนความเร็วสูงอย่างที่ควรจะเป็น เพราะมีอาการช๊อคอัพหน้ากระด้าง ยิ่งถ้าในจังหวะที่กระแทกคันเร่งออกแรงๆ แล้วปิดคันเร่งเพื่อพับรถหลบอุปสรรคแบบฉุกเฉิน ก็มีอาการท้ายย๊วย อย่างรู้สึกได้ชัดเจน นั่นยังไม่รวมถึงอาการหน้ารถส่ายในย่านความเร็วสูงเกิน 140 กม./ชม. ซึ่งเกิดจากเอฟเฟคของวงล้อหน้าขนาด 21 นิ้วที่สวมใส่ยางร่องลึก บนการทำงานของช๊อคอัพหน้าที่เซ็ทไว้ยังไม่เหมาะกับการใช้งานทางไกลแบบนี้เท่าที่ควร จนถึงถนนช่วงนครสวรรค์ - กำแพงเพชร - ตาก ที่พื้นผิวเริ่มมีร่องรอยความเสียหายจากการบดทับของรถบรรทุกขนาดใหญ่จนเกิดเป็นหลุมขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วไป ระบบช่วงล่างเริ่มออกอาการมากขึ้น เพราะผมทดลองขับขี่แบบ "จัดเต็ม" จนกระทั่งแวะเติมน้ำมันที่ตัวเมืองตาก และเลี้ยวซ้ายเข้าแม่สอดบนเส้นทางที่เริ่มจากโค้งกว้างๆในช่วงแรก และเริ่มพับแคบจนถึงตลาดมูเซอ และในที่สุดผมก็เลือกที่จะหยุดขบวนทั้งหมดเข้าข้างทางเพื่อปรับตั้งระบบช่วงล่างใหม่ทั้งหมด ให้อยู่ในระดับ Normal ตามคู่มือประจำรถที่แนบมาด้วย แล้วออกเดินทางกันต่อ โดยเริ่มจากค่อยๆเพิ่มความเร็ว โดยที่ผลของการปรับช่วงล่างไปที่ค่า Normal สามารถรองรับการขับขี่บนโค้งถนนดำได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเพิ่มความเร็ว เบรคหนัก พับรถสุดโค้งเมื่อไหร่ ก็เริ่มมีอาการแปลกๆขึ้นมาอีกทันที จนกระทั่งเข้าถึงที่พักที่แม่สอดเพื่อเก็บสัมภาระ แล้วเปิดกล่องหยิบเครื่องมือและคู่มือการปรับตั้งช่วงล่างออกมาเพื่อปรับตั้งกันใหม่ เพราะเรามีแผนที่จะออกทดสอบกันในวันรุ่งขึ้นบนถนนสายแม่สอด - ท่าสองยาง - แม่สลิดหลวง ที่มีโค้งวนเวียนหัวมากกว่าเส้นที่เพิ่งผ่านมา โดยผมเลือกปรับช่วงล่างไปที่โหมด Sport ตามคู่มือ ซึ่งนั่นก็ต้องทำใจว่าจะส่งผลให้รถกระด้างขึ้น เพื่อรองรับกับการ "หวด" แบบเต็มที่ในโค้งของถนนเส้นนี้
โค้งท่าสองยางที่เลื่องชื่อในหมู่สิงห์นักบิดเมืองไทย ถูก KTM 990 Adventure หวดใส่แบบกระหน่ำคันเร่งในช่วงถนนแห้ง แต่พอเริ่มมีสายฝนตกแบบพรำๆลงมา ช่วงล่างที่ถูกเซ็ทมาในโหมด Sport จำเป็นต้องจอดรถเพื่อปรับลดความแข็งของปริงหน้าและหลังลงอีกสามระดับ เพราะเริ่มเกิดอาการ "หน้าแถ ท้ายสไลด์" เพราะความยีดเกาะของยางที่น้อยจนส่งผลให้ช่วงล่างที่เซ็ทมาแข็งเริ่มไม่ดูดซับอาการลื่นไถลของยางบนถนนที่ลื่นจากสายฝน ซึ่งอาการของรถภายหลังจากที่ปรับลดความแข็งของสปริงลงมาแล้วสามารถขับขี่ในสายฝนได้มั่นใจขึ้น แต่ก็ต้องปรับเปลี่ยนไลน์การขี่ใหม่ให้รถตั้งตรงที่สุด เพื่อควบคุมพื้นที่สัมผัสหน้ายางให้ยึดเกาะถนนมากที่สุดบนถนนลื่นๆเช่นนี้ จนกระทั่งเข้าสู่สมรภูมิลำธารหินที่อยู่ข้างทาง ซึ่งผมหมายตาไว้มาหลายปีที่ขับขี่รถผ่านเส้นทางนี้ ว่าสักวันหนึ่งจะต้องหารถที่สามารถขี่ตะลุยเส้นทางแบบนี้ให้ได้
ลำธารน้ำต้นฤดูฝนที่สายน้ำเริ่มมีสีแกมน้ำตาลจากตะกอนดินภูเขา ทำให้ไม่สามารถมองเห็นสภาพพื้นผิวใต้ท้องน้ำได้ชัดเจนส่งผลต่อความมั่นใจในการขับขี่อยู่พอสมควร เพราะการขับขี่ในเส้นทางแบบนี้ ผู้ขับขี่จำเป็นต้องมีทักษะที่ถูกต้องเท่านั้น จึงจะสามารถขับขี่รถผ่านไปได้อย่างปลอดภัย ซึ่ง KTM 990 Adventure ที่ถูกเซ็ทช่วงล่างมาในโหมด Sport และปรับลดความแข็งสปริงลงไปเล็กน้อย ยังไม่สามารถตอบสนองการขับขี่บนสมรภูมิแบบนี้ได้อย่างปลอดภัย เพราะมีอาการกระดอนจากก้อนหินสารพัดขนาดใต้ท้องน้ำขึ้นมาให้รถเสียการควบคุม เราจึงจอดปรับตั้งระบบช่วงล่างกันใหม่อีกครั้ง โดยที่คราวนี้ปรับไปอยู่โหมด Enduro แล้วลงไปลุยกันอีกครั้ง เริ่มจากค่อยๆหยอดเพื่อทดสอบสภาพพื้นผิวในลำธารช่วงตื้นๆก่อน หลังจากเริ่มปรับตัวคุ้นเคยกับรถและระดับช่วงล่างดีแล้วก็เริ่มหวดกันในระดับน้ำที่ลึกขึ้น หินก้อนใหญ่ขึ้น ซึ่งล้อหน้าที่มีขนาด 21 นิ้ว ล้อหลังขนาด 18 นิ้ว สามารถทำงานร่วมกับระบบช่วงล่างที่เหมาะสมในโหมด Enduro จนสามารถดูดซับแรงกระแทกและลื่นไถลจากก้อนหินที่ฉาบผิวด้วยตะไคร่น้ำได้อย่างสนุก ไม่มีอาการหน้าสะบัดเหมือนช่วงแรกที่เริ่มลงน้ำในระดับช่วงล่างโหมด Sport
วันสุดท้ายของการทดสอบที่แม่สอด เราเลือกถนนสายอุ้มผางที่อุดมไปด้วยโค้งแคบๆ โดยที่ระดับช่วงล่างยังเซ็ทค้างไว้ที่โหมด Enduro เพื่อทดสอบการขับขี่ช่วงล่างโหมดนี้บนโค้งทางเรียบ ซึ่งปรากฏว่ารถมีอาการย๊วยในเวลาที่เริ่มโหดกับมัน จนในที่สุดเราจึงเลือกที่จะเลี้ยวซ้ายลงถนนดินแดงข้างทาง โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าเส้นทางสายนี้จะมีสภาพอย่างไร และไปสิ้นสุดที่ตรงไหน ซึ่งภายหลังจากการเลือกใช้เส้นทางนี้แบบปัจจุบันทันด่วน กลายเป็นทางดินแดงลื่นๆ ลัดเลาะไปตามไหล่เขาที่มีไร่ข้าวโพดที่เกษตรกรไถรอหว่านเมล็ด สภาพพื้นผิวจึงเป็นดินแดงร่วนๆ ผสมกันช่วงทางชันที่เป็นดินหนังหมูลื่นๆ สลับกับบางช่วงที่เป็นถนนหินดินดานเกล็ดเล็กๆ คมๆ ซึ่งสามารถทดสอบทักษะการแก้ปัญหาของผู้ขับขี่ และตัวรถจากสภาพถนนหลากหลายได้เป็นอย่างดี KTM 990 Adventure ที่เซ็ทช่วงล่างไว้ที่โหมด Enduro สามารถตะลุยผ่านทุกเส้นทางเหล่านั้นด้วยความสนุกและปลอดภัย ไร้รอยราคีแห่งการล้มอย่างสิ้นเชิง ส่วนในวันเดินทางกลับ ผมปรับระดับช่วงล่างใหม่อีกครั้งไว้ที่โหมด Sport และเพิ่มความแข็งสปริงขึ้นหนึ่งระดับ เพราะสัมภาระที่ขนมามีน้ำหนักเพิ่มจากตอนไปจากกรุงเทพ รวมถึงถนนออกจากแม่สอดเริ่มแห้ง ซึ่งคราวนี้สามารถหวดได้เต็มที่โดยไม่มีอาการชวนหวาดเสียวเหมือนตอนขาไป แต่พอใกล้ถึงปากทางตากก็เริ่มมีสายฝนโปรยลงมา เราจำเป็นต้องขับขี่กันกลางสายฝนจนกระทั่งถึงกรุงเทพโดยสวัสดิภาพ
KTM 990 Adventure มีจุดเด่นตรงไหน ต่างกับคู่แข่งร่วมตลาดในเมืองไทยอย่างไร นี่คงเป็นคำถามที่หลายคนคิดอยู่ในใจในเวลานี้ ซึ่งถ้าจะว่ากันตามความเป็นจริงสำหรับตลาดเมืองไทยที่มีรถสไตล์นี้ให้เลือกซื้อกันอยู่แค่ไม่กี่ตัว ไม่ว่าจะเป็น BMW R1200GS/GSA ที่ครองความเป็นเจ้าตลาด Triumph Tiger 1050 อันเงียบเชียบ Ducati Multistrada1200 อิตาลีอยากลุย รวมถึง KTM 990 Adventure คันนี้ ผมคงต้องขอแยกหมวดรถสี่รุ่นนี้ออกมาเป็นสองกลุ่มหลัก
1. กลุ่มที่เน้นทางเรียบ
เพราะใช้วงล้อก้านอลูมิเนียมหล่อซึ่งถ้าว่ากันตามตรง ล้อลักษณะนี้ไม่สามารถใช้งานลุยแบบโหดๆ ซึ่งต้องอาศัยแรงดูดซับของก้านซี่ลวดของล้อมาประคองอาการรถ รวมถึงความเสียหายจากการกระแทกที่ล้อซี่ลวดทำได้ดีกว่า นั่นก็คือ Triumph Tiger 1050 ที่ดูจะแข็งแรงกว่า Ducati Multistrada1200 ซึ่งตัว Triumph ผมยังไม่เคยลองขี่ แต่กับ Multistrada เคยลองแล้วจนได้คำตอบว่า มันไม่ใช่รถสำหรับลุยตัวจริง แต่มันเป็นรถที่ออกแบบมาใช้เดินทางบนทางเรียบ สะดวกสบายต่างจากรถสปอร์ททัวริ่งทั่วไปจากระบบช่วงล่างที่แลดูยาวขึ้นจากการออกแบบชุดพลาสติคและชิ้นส่วนให้ดูยกสูงแต่นั้นเอง ซึ่งผู้ขับขี่รถในกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องมีระดับทักษะการควบคุมรถขั้นสูง ก็สามารถใช้รถได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะ Ducati Multistrada1200 ที่มีจุดเด่นกว่าคู่แข่งในเรื่องความแรง และอุปกรณ์อิเลคโทรนิคบนตัวรถ ซึ่งเหมาะกับการขับขี่บนถนนดำเพื่อง่ายต่อการยกกลับไปเข้าศูนย์บริการยามที่อุปกรณ์เหล่านั้น Error ขึ้นมา
2. กลุ่มรถลุยทุกสภาพเส้นทาง
ซึ่งก็คือ KTM 990 Adventure และ R1200GS/GSA (กลุ่มล้อซี่ลวด) คู่มวยสำคัญที่หลายคนจับตามอง - BMW R1200GS/GSA จะได้เปรียบตรงที่ระบบช่วงล่างซึ่งเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะแบรนด์ อันส่งผลต่อความสะดวกสบายในการใช้งาน โดยทำงานร่วมกับระบบควบคุมช่วงล่างไฟฟ้าที่สั่งการด้วยปลายนิ้วสัมผัส โดยโหมดการปรับตั้งสำเร็จรูปจากโรงงานสามารถเลือกใช้ให้ครอบคลุมการใช้งานบนทุกสภาพเส้นทางสำหรับผู้ขับขี่ที่ไม่โลดโผนโจนทะยานมากนัก ซึ่งถ้าจะลุยกันหนักจริงๆ ก็จะขัดใจตรงมิติตัวรถและเครื่องยนต์ที่กว้างใหญ่ และเป็นปัญหาหลักสำหรับคนไทยไซส์เล็ก รวมถึงระบบอิเลคโทรนิคส์บนตัวรถอันชวนปวดหัวเวลาที่มันรวนขึ้นมา แต่ข้อดีของรถค่ายนี้อีกประการหนึ่งก็คือเรื่องของระบบเบรค ที่ "หนึบ"ที่สุด เท่าที่ผมเคยสัมผัสมากับรถหลากรุ่น
- KTM 990 Adventure มีจุดเด่นเรื่องจุดศูนย์ถ่วงรถที่ต่ำ มิติของตัวรถที่แคบกว่า ส่งผลให้ผู้ขับขี่สามารถควบคุมรถผ่านทุกอุปสรรคได้ง่ายดาย เรี่ยวแรงของเครื่องยนต์มีมาให้เหลือเฟือสำหรับการใช้งานลุยหนัก ระบบอิเลคโทรนิคส์บนตัวรถน้อยชิ้นทำให้ง่ายต่อสมองเวลาต้องแก้ปัญหาระหว่างการเดินทางและการใส่อุปกรณ์เสริมเพิ่มเติม ระบบเครื่องยนต์กลไกบนตัวรถที่มีจุดเด่นตรงความ "ง่าย" ต่อการดูแลรักษา รวมถึงระบบช่วงล่างที่มีมิติการปรับตั้งได้ "กว้าง" มากกว่า ดังนั้นผู้ขับขี่จึงจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในการปรับตั้งระบบช่วงล่างมากเป็นพิเศษ รวมถึงต้องมีทักษะในการควบคุมรถบนทุกสภาพถนน จึงจะสามารถใช้ KTM 990 Adventure ได้คุ้มค่า และสนุกกับการเดินทางได้มากกว่ารถสไตล์นี้ที่มีจำหน่ายบนโลกนี้ให้ครอบครองกัน
อัตราเร่งจากเครื่องยนต์ 999 ซีซี
ด้วยม้าออสเตรีย 105 ตัว เพียงพอและเหลือเฟือสำหรับหน้าที่ใช้งานของรถประเภทนี้ เพราะอย่าลืมว่ารถที่ต้องใช้งานในสภาพถนนที่ไม่ได้คงสภาพยึดเกาะตลอดการเดินทาง จะอันตรายมากในกรณีที่มีแรงม้ามากเกินไป จนเกิดอาการ "ล้น" จนเสียการควบคุม ซึ่งส่งผลเรื่องความปลอดภัย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่รถในสไตล์นี้จะมีแรงม้าป้วนเปี้ยนอยู่ที่ระดับ 95-115 แรงม้า ซึ่งอาจมองดูน้อยเมื่อเทียบกับขนาดซีซีของเครื่องยนต์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คนออกแบบเค้าคิดจนถ้วนถี่แล้วว่ารถประเภทนี้เน้นการใช้งนในรอบต่ำถึงปานกลาง ไม่ได้กระแทกคันเร่งจี๊ดจ๊าดเหมือนรถสปอร์ททางเรียบ พละกำลังในระดับนี้จึงเหมาะสมที่สุด และประเด็นนี้ถ้าว่ากันตามตรงก็ยังเป็นที่ค้างคาใจของสิงก์นักบิดเมืองไทย ซึ่งนิยมรถแรงทะลุถนน แต่ลืมคิดไปในเรื่องความปลอดภัยในการใช้งาน และระดับทักษะการควบคุมของผู้ขับขี่เอง
ระบบเบรคของ KTM 990 Adventure
ผูกสัมปทานจากค่าย Brembo ด้วยชุดเบรคหน้าขนาดจานเบรคลอยตัวขนาด 300 มม. หยุดความแรงด้วยคาลิเปอร์ลูกสูบคู่ต่อข้าง ส่วนด้านหลังใช้คาลิเปอร์ลูกสูบคู่เช่นกัน กับจานเบรคขนาด 240 มม. และระบบ ABS. ควบคุมด้วยไฟฟ้าส่งผลให้สามารถควบคุมทิศทางของรถในยามที่ต้องเบรคฉุกเฉิน ซึ่งประสิทธิภาพของระบบเบรคชุดนี้อยู่ในระดับที่ไว้ใจได้ดีทีเดียว เพราะผมทดลอง "กำหมด" บนทุกสภาพพื้นผิว ทุกสถานการณ์จำลองที่คาดว่าผู้ขับขี่ใช้งานทั่วไปจะต้องพบเจอระหว่างการเดินทาง
การทดสอบ KTM 990 Adventure
บนเส้นทางที่ยาวไกลในหนนี้ทำให้ผมได้รับประสบการณ์เพิ่มขึ้นอีกหลายหยักในสมอง เพราะได้ลองกันครบทุกสภาพถนน ทุกสภาพอากาศ และถ้าถามว่ามันน่าครอบครองไหม ผมก็ตอบได้ทันทีเลยว่า KTM 990 Adventure เป็นรถที่สิงห์มอเตอร์ไซค์หัวใจนักเดินทาง ซึ่งรักการผจญภัยในทุกสภาพถนนจำเป็นต้องหามาไว้ในครอบครอง เพื่อเพิ่มอรรถรสความมันส์ในการท่องเที่ยวให้กับตัวเองในเส้นทางที่รถค่ายอื่นยากจะเข้าถึง แต่ถ้าได้ขี่ KTM 990 Adventure คุณจะสามารถไปได้ทุกเส้นทาง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อย่าลืมเรื่องการแสวงหาและเรียนรู้ทักษะการขับขี่รถประเภทนี้ให้อยู่ในระดับที่สามารถเอาตัวรอดได้ แล้วคนจะได้สนุกอย่างปลอดภัยครับ (ดูข้อมูลทางเทคนิคเพิ่มเติม คลิก !)
ขอขอบคุณ:
บริษัท คุณค่า มอเตอร์ไซเคิล จำกัด
สำหรับรถ KTM 990 ADventure ที่ใช้ในการทดสอบ
Touratech Thailand
สำหรับอุปกรณ์เสริมสำหรับการเดินทาง ที่ติดตั้งบนตัวรถ
Dirt Shop
สำหรับอุปกรณ์ขับขี่ของผู้ทดสอบ
ภาพเพิ่มเติมสำหรับ Action มันๆ ของ KTM 990 Adv (คลิกที่ภาพเพื่อชมภาพขนาดเต็ม) |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|