|
(1) ถ้ารถอยู่ในตำแหน่งสมดุลย์ (Balance) เราแทบไม่ต้องออกแรงจับรถเลย |
|
(2) หากรถเสียสมดุลย์เราจะรู้สึกว่ารถหนักมาก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการที่รถเอียงหรือตำแหน่งที่ยืนไม่ถูกต้อง |
|
(3) ตำแหน่งที่ยืน - ควรยืนอยู่ด้านซ้ายของตัวรถเพื่อความปลอดภัยจากรถที่มาจากด้านหลัง |
|
(4) ลักษณะการวางมือ - ผ่อนคลายแต่กระชับ และพร้อมใช้เบรก |
|
(5) การวางเท้า - ห่างจากตัวรถเล็กน้อย ถ้าใกล้ไปจะรู้สึกไม่มั่นคง แต่ถ้าห่างมากเกินไปจะทำให้รู้สึกหนัก |
|
(6) ลักษณะการเข็นเดินไปข้างหน้า |
|
(7) ลักษณะการเข็นถอยหลัง เก๋าไม่เก๋ามันต้องดูตรงนี้แหละ |
|
(8) เข็นเลี้ยวซ้าย - รถจะตั้งขึ้น ทำให้รู้สึกเบา อาจมีอาการเหวอบ้างช่วงฝึกแรกๆ |
|
(9) เข็นเลี้ยวขวา - รถจะเอียงเข้าหาตัว จึงรู้สึกหนักกว่าเข็นปกติ |
|
(10) การเข็นระยะไกล จะไม่ใช้สะโพกประคองรถ ดังนั้นรถจะต้องตั้งตรงในจุดบาลานซ์ตลอด |
|
(11) เข็นไกล : เดินหน้า ตั้งรถให้ตรงแล้วเข็นไปสบายๆ ชิวๆ |
|
(12) เข็นไกล : ถอยหลัง อันนี้ยากพอสมควรทีเดียวเพราะต้องใช้ประสาทสัมผัสหลายจุดคือ สายตา, มือแต่ละข้าง และการก้าวเท้า |
|
(13) หากรถเสียสมดุลย์จนเกือบล้ม ให้ใช้ต้นขารองบริเวณถังเพื่อรับน้ำหนัก หรือขยับตัวเข้าหารถแล้วใช้สะโพกรับน้ำหนัก |
|
เชื่อว่าหลายคนคงเคยมีปัญหากับการเข็นรถคู่ใจของตัวเอง โดยเฉพาะพวกที่ขี่รถทัวริ่งคันไหญ่ๆ ที่จะเข็นแต่ละทีต้องคิดแล้วคิดอีกว่าจะไหวหรือเปล่า หรือต้องเรียกให้คนที่อยู่ใกล้มาช่วยประคอง เวรกรรมมีรถทั้งทีมันลำบากแท้น้อ… ไม่ต้องคิดมากครับมันเป็นเรื่องปกติ ก็รถบิ๊กไบค์หรือซุปเปอร์ไบค์ที่เราๆท่านๆ ขี่กันอยู่นี่แต่ละคันน้ำหนักมันเบาซะที่ไหน กระผมเองกว่าจะคล่องก็ “ล้มแปะ” ไปหลายหน ในคอลัมน์นี้เรามาดูวิธีการเข็นรถแบบของชาว Storm Rider กันดีกว่า
จากภาพที่(1) จะเห็นว่าโดยปกติถ้ารถตั้งตรง จะอยู่ในจุดที่น้ำหนักสมดุลย์ (Balance) เราแทบจะไม่ต้องออกแรงเพื่อประคองรถเลย เพราะน้ำหนักทั้งหมดของรถตกลงสู่ล้อทั้งสอง ไม่เอียงมาฝั่งใดฝั่งหนึ่ง
แต่ที่เราประคองหรือเข็นรถแล้วรู้สึกหนัก นั่นเป็นเพราะรถอยู่ในลักษณะเอียง ทำให้เสียสมดุลดังกล่าว น้ำหนักกระจายออกนอกตัวรถมาสู่ตัวเราที่ยืนประคองหรือเข็นรถอยู่ ยิ่งรถเอียงมากยิ่งรู้สึกหนัก
นี่แหละสาเหตุหลักที่หลายๆ คนบอกว่ารถหนักมากเข็นไม่ไหว ซึ่งจริงๆแล้วที่เรารู้สึกหนักนั้นเป็นเพราะรถเอียงเข้าหาตัวมากเกินไป รวมทั้งอาจจะอยู่ในตำแหน่งและท่าทางที่ไม่เหมาะสมทำให้ออกแรงได้ไม่ถนัด
ดังนั้น วิธีเข็นที่ดีจะช่วยให้สามารถเข็นได้อย่างเบาแรงและมั่นคง ทำให้คุณเข็นรถได้อย่างมั่นใจ โอกาส ”แปะ” ก็จะน้อยลงตามไปด้วย ว่าแล้วก็เข้าเรื่องดีกว่า สำหรับเรื่องเข็นรถนี่ผมขอแบ่งเป็น เข็นระยะใกล้ กับเข็นระยะไกล แล้วกัน
การเข็นระยะใกล้ / พื้นที่แคบ
สำหรับการเข็นในระยะทางสั้นๆ หรือเข็นในพื้นที่แคบ เนื้อที่จำกัด และเป็นวิธีเข็นที่เหมาะสำหรับมือใหม่ที่จะเริ่มฝึกเข็นรถเพื่อให้คุ้นเคยกับน้ำหนักรถ เพราะมีความมั่นคงมากกว่า อยากรู้แล้วใช่มั๊ยหล่ะ งั้นมาดูกันว่ามีอะไรบ้าง
ตำแหน่งที่ยืน : โดยปกติแล้วจะยืนทางซ้ายของตัวรถ เพราะสามารถใช้มือขวาคุมเบรกได้สะดวก และมีความปลอดภัยกว่าหากต้องเข็นรถบนถนน (ยืนเข็นทางขวามันเสียวรถที่วิ่งมาจากข้างหลังจะสอยเอาไปรับประทานหน่ะสิครับพี่น้อง…)
มือ : วางมือทั้งสองข้างบนแฮนด์ในตำแหน่งเดียวกับเวลาขี่รถ และจำไว้ว่ามือจะทำหน้าที่เพียงบังคับทิศทางของรถ ฉะนั้น ไม่ต้องออกแรงเพื่อดันรถให้ตั้งตรง (เพราะนั่นเป็นหน้าที่ของสะโพก) มือขวาวางนิ้วไว้บนก้านเบรก ในตำแหน่งที่พร้อมสำหรับการใช้เบรกตลอดเวลาเหมือนในภาพที่(4) โดยมีข้อควรระวังคืออย่ากดเบรกแรงอย่างกะทันหัน เพราะอาจทำให้รถเสียสมดุลและล้มเอาซะดื้อๆ... ส่วนจะวาง 1 นิ้ว, 2 นิ้ว หรือจะใช้นิ้วไหน อันนั้นตามสะดวก
เท้า : วางเท้าห่างจากตัวรถเล็กน้อย ที่ตำแหน่งนี้รถจะมีลักษณะเอียงเข้าหาตัวเรา ให้ใช้ลำตัวบริเวณสะโพกแนบกับตัวรถเพื่อรับน้ำหนักและประคองไม่ให้รถล้มโดยใช้เท้าซ้ายเป็นตัวค้ำ (ทำหน้าที่เหมือนขาตั้งข้าง) ที่ทำแบบนี้เพื่อความมั่นคงของรถที่ดีกว่า และทำให้เราสามารถรับรู้ Balance ของรถได้ตลอดเวลา จึงมั่นใจได้ว่ารถจะไม่ล้มไปทางฝั่งตรงข้าม ซึ่งเป็นท่าที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้เริ่มต้นฝึกการเข็นรถ ข้อควรระวัง - อย่าวางเท้าห่างเกินไป เพราะรถจะเอียงเข้าหาตัวเรามากซึ่งจะทำให้รู้สึกหนัก เอาหล่ะเมื่อยืนถูกแล้วก็มาเริ่มเข็นกันเลย...
1. เข็นเดินหน้า
จากตำแหน่งที่ยืนอยู่ โน้มตัวมาข้างหน้าเล็กน้อยพร้อมออกแรงที่มือและขาด้านนอก(ซ้าย) เพื่อดันรถให้เคลื่อนไปข้างหน้า โดยให้สะโพกแนบอยู่กับตัวรถตลอดเวลา เมื่อรถเคลื่อนที่ให้ก้าวเท้าให้เหมาะสมกับความเร็วของรถดังในภาพที่(6) โดยขณะที่เข็นพยายามรักษาตำแหน่งและระยะห่างของเท้ากับรถให้สม่ำเสมอ (ห่างมากรถเอียงมาก) สำหรับความเร็วในการเข็นเราจะควบคุมด้วยเบรกหน้า ฉะนั้นมือขวาจะต้องอยู่ในตำแหน่งที่พร้อมใช้เบรกตลอดเวลา
2. เข็นถอยหลัง หลักการไม่ต่างจากเข็นไปข้างหน้าคือใช้สะโพกแนบตัวรถและรักษาระยะห่างของเท้ากับรถ (ภาพที่(7)) แต่ที่แตกต่างและยากกว่าเพราะต้องเดินถอยหลัง
ซึ่งการก้าวเท้าไม่สามารถทำได้อย่างปกติเพราะต้องก้าวสั้นกว่า แถมยังต้องเอี้ยวตัวเพื่อหันมามองข้างหลังอีก (บางคนถึงกะเข็นไม่เป็นเลยหล่ะ...)
ทริกสำคัญอย่างหนึ่งอยู่ที่ ให้ใช้กำลังจากขาและการถ่ายน้ำหนักตัวในการดันรถให้เคลื่อนรถไปข้างหลัง แขนใช้เพียงประคองรถและควบคุมทิศทาง อาจจะช่วยออกแรงบางแต่ไม่มาก เพราะหากคุณออกแรงที่แขนเป็นหลักเพื่อ”ดึง”รถถอยหลัง อาจจะทำให้รถถอยเร็วเกินจนคุณก้าวเท้าตามไม่ทันและเสียบาลานซ์ในที่สุด และถ้าออกแรงดึงข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไปนั่นเท่ากับคุณหักแฮนด์ออกนอกเส้นทางซึ่งทำให้เข็นรถไม่ตรง
3. เข็นเลี้ยวซ้าย / ขวา
ยังคงยึดหลักการใช้สะโพกแนบตัวรถและรักษาระยะห่างของเท้ากับรถ แต่จะยากขึ้นมาอีกนิดเพราะจะมีเรื่องของบาลานซ์น้ำหนักรถที่เปลี่ยนแปลงจากการเลี้ยว โดย -
เข็นเลี้ยวซ้าย ภาพที่(8) : รถจะเคลื่อนเข้าหาคนเข็น ระยะห่างระหว่างเท้ากับรถจึงสั้นลง ทำให้รถตั้งขึ้น/บาลานซ์น้ำหนักถ่ายไปฝั่งตรงข้ามมากขึ้น เลยรู้สึกว่าน้ำหนักรถมันไม่อยู่ที่สะโพกเหมือนเข็นปกติและเหมือนจะล้มไปทางฝั่งตรงข้ามง่ายขึ้น -
เข็นเลี้ยวขวา ภาพที่(9) : จะรู้สึกตรงกันข้าม คือ รถเคลื่อนออกจากตัวคนเข็น ระยะห่างของเท้ากับรถจึงเพิ่มขึ้น ทำให้รถเอียงมากกว่าปกติน้ำหนักตกมาที่สะโพกมากขึ้น จึงรู้สึกว่าหนักกว่าปกติเหมือนรถจะล้มทับ
* เทคนิคคือ
1.ตามองเส้นทางที่จะเข็นรถเลี้ยวไป อย่ามองต่ำหรือใกล้เกินไป
2.พยายามรักษาระยะห่างของเท้ากับตัวรถ โดยเวลาเข็นเพื่อเลี้ยวรถควรก้าวเท้าไปตามแนวของล้อหน้า หมายความว่าถ้าหักแฮนด์มากก็ต้องก้าวเท้าออก”ด้านข้าง”มาก ซึ่งจะทำให้ระยะห่างของเท้ากับตัวรถมีความสม่ำเสมอตลอดเวลาไม่ว่าจะเข็นตรงๆ หรือเลี้ยวซ้าย/ขวา
4.การเข็นระยะไกล
.คุณเคยน้ำมันหมดหรือรถเสียกลางทางแล้วต้องเข็นหาปั๊มหรืออู่มั๊ย? ถ้าเคยคุณจะรู้ดีว่าไอ้การเข็นรถไกลๆเนี่ยมันนรกชัดๆ (ถ้าใครไม่เคยไปลองดูนะครับ ได้อารมณ์มาก) แล้วยิ่งถ้าต้องเข็นรถคันใหญ่ด้วยแล้ว แหม... มันอยากจะถีบทิ้งซะตรงนั้นเลย ไอ้จะใช้วิธีเอาสะโพกดันแบบข้างบนนั่นก็ไม่ไหว เพราะมันจะเดินไม่ค่อยถนัดเนื่องจากขาด้านนอกต้องออกแรงดันรถตลอดเวลา แล้วยิ่งถ้าต้องเดินไกลๆ เกิดหมดแรงขาอ่อนมันจะล้มพับซะงั้น!!..........
เอาหล่ะ...งั้นมาลองวิธีเข็นอีกแบบ ซึ่งอันนี้ต้องพอมีเบสิคเคยเข็นมาบ้าง และรู้จุดบาลานซ์ของรถ
1. การเข็นเดินหน้า
จากที่บอกไว้ตั้งแต่ตอนต้นแล้วว่า ถ้ารถตั้งตรงอยู่ในจุดที่น้ำหนักสมดุล คนเข็นแทบจะไม่ต้องออกแรงเพื่อประคองเลย
โดยลักษณะการยืน ผู้เข็นจะยืนอยู่ทางด้านซ้ายของรถ วางมือที่แฮนด์ทั้ง 2 ข้างเหมือนการเข็นระยะใกล้ เท้าอยู่ห่างจากรถเพียงเล็กน้อย จับให้รถตั้งตรง (ต่างจากการเข็นระยะใกล้ที่ใช้สะโพกรับน้ำหนักรถ) ซึ่งทำให้น้ำหนักรถตกลงในแนวดิ่งไม่เอียงหาคนเข็นจึงไม่รู้สึกหนัก ลักษณะการเข็นไปข้างหน้าจะเหมือนกับการเข็นระยะใกล้แต่จะรักษาบาลานซ์รถให้ตั้งตรงไว้เสมอ (ภาพที่(11)) มีข้อควรระวังคืออย่ายืนชิดรถจนเกินไปเพราะอาจทำให้น้ำหนักรถเอียงไปทางฝั่งตรงข้ามมากเกินและทำให้ล้มในที่สุด
2. การเข็นถอยหลัง
การยืนจะอยู่ฝั่งซ้ายของรถเหมือนเดิม แต่หันตัวเข้าหาตัวรถ มือซ้ายจับแฮนด์ส่วนมือขวาจับบริเวณเบาะคนซ้อนประคองรถให้ตั้งตรง ยืนใกล้กับรถเพื่อไม่ให้รถเอียงเข้าหาตัว หันหน้าไปด้านหลังมองเส้นทางที่จะเข็น
เมื่อจะเริ่มเข็นให้ความรู้สึกอยู่ที่มือขวาและขาซ้าย โดยใช้ขาซ้ายดันตัวและมือขวาออกแรงผลักรถไปด้านหลัง เมื่อรถขยับเราจะก้าวเท้าเดินไปพร้อมๆกับรถ ซึ่งเมื่อเริ่มฝึกอาจจะก้าวเท้าในลักษณะไขว้ขาก่อนจนเมื่อชินแล้วค่อยก้าวแบบเดินปกติ (ดูภาพที่(12)ประกอบ)
** ข้อควรจำ – ตั้งรถให้ตรง, ออกแรงดันด้วยมือขวา และหันหน้ามองทิศทางที่จะไป
3. การเข็นเลี้ยวซ้าย / ขวา
สำหรับการเข็นแบบนี้เมื่อเลี้ยวจะไม่มีปัญหาของบาลานซ์เพราะรถตั้งตรงตลอดเวลา จึงเข็นเหมือนกรณีเดินหน้าและถอยหลัง เพียงแต่ให้รักษาระยะห่างระหว่างรถกับผู้เข็นให้สม่ำเสมอเท่านั้น
เมื่อรถจะล้ม!!!
คนที่เคยเข็นรถล้มคงจำวินาทีก่อนที่รถจะล้มได้ มันจะเป็นภาพสโลโมชั่นมากๆ ประมาณว่า... (( เฮ้ยยยยย .... โร้ดดดด... โล้มมมมม...... ตึง!!)) พยายามฝืนชะตาดึงรถไว้แล้วเต็มที่ แต่ก็ไม่วายล้มจนได้ (บัดซบเจงๆ) และไม่แน่อาจมีอาการหลังยอกตามมาด้วยเพราะฝืนใช้กล้ามเนื้อออกแรงผิดจังหวะ จำไว้ว่าเมื่อรถจะล้มสิ่งสำคัญที่สุดคือ อย่าตกใจ ตั้งสติดีๆ ถ้าคิดว่าเอาไม่อยู่ “อย่าฝืน” โดดออกมาจากรถ ปล่อยให้มันล้มไปแล้วค่อยมายกทีหลัง ดีกว่าฝืนแล้วหลังเดี้ยงแถมรถก็ล้มอยู่ดี
แต่ถ้าคิดว่ามีแรงพอ เอาอยู่ มาลองวิธีนี้... ส่วนใหญ่แล้วรถจะ”ล้มเข้าหาตัว” ซึ่งก่อนที่จะล้มเราจะรู้สึกตัวว่าเสียบาลานซ์ ช่วงนี้เราจะมีเวลาประมาณ 1 – 2 วินาทีในการ “แก้ตัว” นี่แหละที่ผมบอกว่าให้ตั้งสติดีๆ วิธีแก้คือ ให้ขยับเท้าข้างหนึ่งเข้ามาใกล้ตัวรถให้เร็วที่สุดพร้อมกับเอาต้นขาหรือสะโพกดันรถพักไว้ในจังหวะแรกดังที่แสดงในภาพที่(13) ส่วนจังหวะถัดมามีให้เลือก 2 แบบ
- แบบที่หนึ่ง :ใช้น้ำหนักตัวดันรถกลับไปฝั่งตรงข้ามให้ตั้งตรงในจุดบาลานซ์เหมือนเดิม โดยใช้ขาหลังหรือขาที่อยู่ด้านนอกสุดของตัวรถออกแรงส่ง และใช้สะโพกดันรถขึ้น (อย่าใช้แขนดึง)
- แบบที่สอง : แหกปากให้ดังที่สุด “ช่วยกูด้วยโว้ย...!!!” (หวังว่าตอนนั้นจะมีคนอยู่ใกล้ๆ นะทั่น)
ส่วนกรณีที่รถล้มออกนอกตัว มีคำแนะนำเดียวแบบหมอลักษณ์ฟันธง... ปล่อยให้มันล้มไป!! อย่าไปฝืนครับ ถ้าล้มออกนอกตัวแล้วคุณฝืนดึงรถไว้ ผลที่จะเกิดจะมีอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกคุณจะล้มตามรถไปฝั่งตรงข้าม หรืออย่างที่สองคุณรู้ว่าดึงรถไม่ไหวจึงต้องปล่อยรถล้มไปในที่สุด แต่ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรรับรองว่าหลังคุณเดี้ยงเพราะกล้ามเนื้ออักเสบแน่นอน เพราะฉะนั้นกรณีนี้ปล่อยให้มันล้มไปเหอะครับ อย่าฝืน เดี๋ยวจะเจ็บทั้งรถทั้งคน
เรื่อง / กราฟฟิก : Rider 11
ถ่ายภาพ : W@T_1100XXX
แสดงท่าการขับขี่ : Home Alone |