|
(1) การเบรก เป็นเรื่องแรกที่ผมจะบรรยายในทุกๆคอร์ส |
|
(2) ภาพจำลอง การกดเบรกหน้าอย่างเดียว |
|
(3) ภาพจำลอง การกดเบรกหลังอย่างเดียว |
|
(4) ภาพจำลองระยะเบรก ที่ความเร็ว 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง (ล้อไม่ล็อค) |
|
(5) ภาพแสดงการถ่ายน้ำหนักของรถ เมื่อเกิดการเบรก - โปรดสังเกตุบริเวณยางที่ถูกน้ำหนักกดลงบนพื้นถนน |
|
(6) การทดสอบระยะเบรกโดยใช้เบรกหลังอย่างเดียวให้ล้อล็อค |
|
|
เบรกคืออุปกรณ์สำหรับความปลอดภัยที่สำคัญที่สุดสำหรับยานพาหนะ แต่น่าแปลกที่คนไทย (เท่าที่ผมเจอ) ให้ความสนใจเรื่องเบรกน้อยมาก พอสตาร์ทรถเป็น ออกตัวได้ก็ “ฉันขี่รถได้แล้วว้อยยย...” สนใจแต่ว่ารถคันนี้ความเร็วสูงสุดเท่าไหร่? เทียบกันรุ่นนั้นแล้วคันไหนแรงกว่า? ฯลฯ ไม่เคยมีใครสนใจว่าจะทำยังไงถึงจะหยุดรถได้ในระยะทางที่สั้นที่สุด หรือจะใช้เบรกในการคอนโทรลรถอย่างไร
เชื่อหรือไม่ว่าคนที่ขี่มอเตอร์ไซค์มากกว่า 50% ใช้เบรกไม่ถูกต้อง!!!
ตั้งแต่ผมเริ่มขี่มอเตอร์ไซค์มา ได้รู้จักกับผู้ขี่มากมายหลากหลายทั้งรถเล็ก รถใหญ่ ทั้งเพิ่งเริ่มขี่จนถึงขี่มาเป็น 10 ปี มีหลายสาเหตุที่ทำให้คนเหล่านั้นใช้เบรกไม่ถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่น ไม่มีคนสอนเลยหัดเองและคิดว่าถูกต้องแล้วจึงทำแบบนี้มาตลอด, มีคนสอนแต่คนที่สอนเองก็ทำไม่ถูกเลยพาลผิดกันต่อไป, ฯลฯ คราวนี้เราลองมาดูกันว่าผลที่ได้ (ซึ่งมันผิด) มีอะไรบ้าง
• ใช้เบรกหลังเป็นหลัก (ใช้เบรกหน้าน้อยมากหรือแทบไม่ใช้เลย)
• กำคลัทช์เวลาเบรก
• เข้าใจว่าเบรกหน้าแล้วจะทำให้รถพับล้ม หรือตีลังกา
• เข้าใจว่าเบรกจนล้อล็อกเป็นการเบรกที่ดี
เหล่านี้คือความเข้าใจที่ผิดทำให้การเบรกไม่ถูกต้อง จึงต้องใช้ระยะทางเบรกมากกว่าที่ควร ซึ่งอาจไม่เพียงพอในสถานการณ์คับขันและเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้ เอาหล่ะ... เพื่อไม่เป็นการเสียเวลาเรามาดูกันเลยดีกว่าว่าเบรกที่ดี ที่ถูกต้องเป็นอย่างไร
โดยหลักๆ แล้ว เบรกแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
1. เบรกหน้า (Front Brake)
เป็นเบรกที่ให้ประสิทธิภาพในการหยุดรถดีที่สุด แต่จะทำให้รถเสียความสมดุล : จาก ภาพที่(2) จะเห็นว่าจากตำแหน่งของรถและผู้ขี่ในสภาวะปกติ(ภาพลายเส้นสีฟ้า) เมื่อกดเบรกหน้า น้ำหนักเกือบทั้งหมดของรถจะถูกเหวี่ยงมาด้านหน้าผ่านโช้คลงไปสู่ล้อหน้า (นี่แหละที่มาของคำว่า “เบรกหัวทิ่ม”) ณ จุดนี้จึงเป็นการลดความเร็วของรถทั้งคันอย่างแท้จริง (เพราะมันมารวมอยู่ที่ล้อหน้าเกือบหมดแล้ว) แต่ด้วยน้ำหนักดังกล่าวนี้เองทำให้ช่วงหน้าหนักเป็นผลให้รถเลี้ยวยาก
2. เบรกหลัง (Rear Brake)
ให้ประสิทธิภาพในการเบรกน้อยกว่า แต่รถมีความสมดุลมากกว่า : จาก ภาพที่(3) เนื่องจากเมื่อกดเบรกหลังจะมีน้ำหนักบางส่วนกดลงมาที่ล้อหลังแต่ส่วนใหญ่จะยังคงถูกเหวี่ยงไปยังด้านหน้าของรถตามแรงโมเมนตัม ณ จุดนี้จึงเป็นการลดความเร็วเพียงบางส่วนของทั้งหมด เพราะความเร็วส่วนที่เหลือได้ถ่ายไปยังด้านหน้ารถ (ฉะนั้นถึงแม้เบรกจนล้อหลังล็อค รถก็ยังคงวิ่งต่อไปได้ด้วยล้อหน้า) ทำให้ใช้ระยะทางในการเบรกมากกว่า แต่นี่เองทำให้น้ำหนักของรถกระจายไปยังล้อหน้า-หลังอย่างสมดุลเป็นผลให้ควบคุมรถในขณะเบรกได้ง่าย
วิธีการเบรกที่ถูกต้องจะใช้เบรกหน้าและหลังเป็นหลัก และจากคุณสมบัติของเบรกที่กล่าวมาข้างต้นเราจึงสามารถสรุปได้ว่า การเบรกที่ดีควรให้น้ำหนักการกดเบรกหน้าประมาณ 70-80% และหลังประมาณ 20-30% และถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นควรกดเบรกหลังก่อนเล็กน้อยเพื่อการกระจายน้ำหนักและประสิทธิภาพการเบรกที่ดีกว่า แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ให้กดพร้อมกันเลย
ทำไมต้องกดเบรกหลังก่อน ?
จากหลักการที่เขียนไว้ข้างต้นลองดู ภาพที่(5) แล้วนึกตามนะครับ ถ้าเรากดเบรกหน้าก่อน น้ำหนักส่วนใหญ่จะถูกเหวี่ยงมาที่ล้อหน้า(มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับน้ำหนักการกดเบรก) ฉะนั้นที่ล้อหลังก็จะไม่มีน้ำหนักกดอยู่หรือมีก็เพียงเล็กน้อย ทำให้หน้าสัมผัสยางกับพื้นถนนมีน้อย ดังนั้นเมื่อเรากดเบรกหลังในจังหวะต่อมาจึงแทบไม่ได้ช่วยลดความเร็วของรถแต่อย่างใด (เหมือนยางลบซึ่งถ้าไม่ออกแรงกดมันก็จะไม่ฝืด ทำให้ถูไถลได้ง่าย) ซึ่งในกรณีนี้ไม่ต่างอะไรกับการใช้เบรกหน้าเพียงอย่างเดียว ..........
แต่ถ้าเรากดเบรกหลังก่อน
น้ำหนักบางส่วนจะกดไปยังล้อหลังทำให้การเบรกนี้ช่วยชะลอความเร็วได้ในระดับหนึ่งก่อนที่น้ำหนักดังกล่าวจะถูกส่งไปด้านหน้ารถตามโมเมนตัม ซึ่งเมื่อกดเบรกหน้าในจังหวะต่อมาหลังจากความเร็วได้ลดลงมาบ้างแล้ว ทำให้ระยะเบรกที่ได้สั้นกว่าการเบรกหน้าเพียงอย่างเดียว อีกทั้งบาลานซ์ของรถก็ดีกว่าเพราะมีน้ำหนักกดอยู่ทั้ง2ล้อ
ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับการเบรก
“เบรกหน้าแล้วจะทำให้รถพับล้ม หรือตีลังกา…!!!” นี่คือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนขี่มอเตอร์ไซค์บ้านเราใช้เบรกหลังเป็นหลัก(ซึ่งไม่ถูกต้อง)... สาเหตุหลักอย่างนึงที่ทำให้คิดแบบนี้คือมีประสบการณ์จากการขี่จักรยาน ที่เมื่อกดเบรกหน้าอย่างกระทันหันจะทำให้หน้าทิ่มจนล้อหลังลอยขึ้นจากพื้นหรือรถพับล้ม แต่ผมยืนยันได้เลยว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้ยากกับรถมอเตอร์ไซค์เพราะ 1.น้ำหนักมากกว่า(เยอะ)
2.มีโช้คอัพหน้าคอยซับแรง(น้ำหนัก)
ที่ถูกถ่ายมาเมื่อทำการเบรก ฉะนั้นไม่ต้องกลัวครับ มันไม่ล้มง่ายอย่างที่คุณคิดหรอก!
งั้นเรามาลองฝึกกันซะหน่อยดีมั๊ย... ในช่วงเริ่มต้นหัดใช้เบรกหน้าอาจจะยังไม่ชินจึงรู้สึกว่าเวลาเบรกรถจะมีอาการหน้าทิ่ม (ซึ่งมันก็ไม่ต่างจากเวลาคุณหัดขับรถยนต์แล้วลองเบรกหรอกครับ ผมรับรองได้ร้อยทั้งร้อยหัดขับครั้งแรกก็เบรกหัวทิ่มทุกคน) ที่เป็นเช่นนั้นเพราะคุณใช้น้ำหนักในการกดเบรกมากเกินไปหรืออาจกดเร็วเกินไป วิธีแก้คือฝึกใช้เบรกหน้าบ่อยๆเพื่อหาน้ำหนักการกดเบรกที่เหมาะสม โดยเริ่มต้นจากค่อยๆกด ช้าๆ อย่ากดอย่างกะทันหัน แรกๆอาจใช้ระยะทางมากหน่อยแต่เมื่อคุณเริ่มชินกับน้ำหนักเบรกและมีความมั่นใจมากขึ้น คุณจะสามารถเบรกได้ในระยะทางที่สั้นและนุ่มนวล
เอี๊ยดดด!!!............ อยู่???” (การเบรกจนล้อล็อก) เสียงยางถูกับถนนอาจทำให้บางคนรู้สึกว่าเป็นเสียงของการเบรกที่ดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว เสียงนี้คือสัญญาณอันตรายที่บอกคุณว่า “เบรกไม่อยู่แล้วโว้ย...สละยาน!!!” เพราะเสียงนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเราเบรกจนล้อหยุดหมุนหรือล้อล็อคโดยที่รถยังคงวิ่งอยู่ (กรณีนี้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากการกดเบรกหลัง เพราะถ้าคุณกดเบรกหน้าจนล็อคหล่ะก็ผมว่าตอนนั้นตัวคุณคงลอยอยู่กลางอากาศแล้ว...) นั่นหมายความว่าเบรกไม่ได้ทำหน้าที่ในการชะลอความเร็วอีกต่อไปเพราะล้อหยุดหมุนแล้ว แต่รถยังคงไถลไปตามแรงเหวี่ยงจากความเร็วที่วิ่งมา โดยเสียง”เอี๊ยด” ดังกล่าวเกิดจากการที่ยางถูกถูไถลไปกับพื้นถนน ส่วนจะไถลไปไกลขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าก่อนที่ล้อจะล็อคนั้นความเร็วอยู่ที่เท่าไหร่ ถ้าเร็วน้อยก็ไถลไปพอขำๆ แต่ถ้าเร็วมากก็คงจะต้องมาดูกันอีกทีครับว่ารถกะคนขี่ อะไรจะไถลไปได้ไกลกว่ากัน!!!...
ลองดูใน ภาพที่(6) ซึ่งเป็นการทดลองเบรกจนล้อหลังล็อค แล้วทำการเช็คระยะทางที่ได้ว่าเป็นอย่างไร โดยให้ผู้ขี่ 3 คนทดลองเบรกจนล้อหลังล็อคที่ความเร็วสองระดับ
ผลที่ได้คือ
- ความเร็ว 48 กม./ชม. ระยะเบรกเฉลี่ย 40.5 เมตร
- ความเร็ว 80 กม./ชม. ระยะเบรกเฉลี่ย 128.5 เมตร
จะเห็นได้ว่าเมื่อเทียบกับการเบรกแบบล้อไม่ล็อคใน ภาพที่(4) ระยะทางที่ได้ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด (ความเร็ว 60 กม./ชม. ใช้ระยะทางเพียง 35 เมตร) นั่นแสดงว่าไอ้การเบรกจนล้อล็อคเนี่ยเป็นการเบรกที่ไม่มีประสิทธิภาพ (ไม่งั้นเค้าคงไม่คิดระบบ ABS ขึ้นมาใช้หรอก จิงมะ) ฉะนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ดังกล่าวเราจึงควรฝึกเบรกบ่อยๆ ทั้งหน้าและหลังเพื่อหาว่า เราจะสามารถกดเบรกได้มากที่สุดเท่าไหร่โดยที่ล้อจะไม่ล็อค
“กำคลัทช์เวลาเบรก”
อันนี้เดาว่าน่าจะมาจากการที่คนขี่กลัวรถจะดับ สำหรับท่านที่เคยหัดขี่รถมอเตอร์ไซค์มีคลัทช์คงจะจำกันได้ถึงตอนที่เราหัดขี่แรกๆ พอเบรกเพื่อจอดรถแล้วลืมบีบคลัทช์นี่รถมันจะกระตุกแล้วพาลจะล้มตลอด(ซึ่งเป็นอะไรที่เสียฟอร์มมาก) ดังนั้นเพื่อป้องกันการผิดพลาดเราเลยกำคลัทช์พร้อมเบรกซะเลย... ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ผิดในการเบรกเพราะเมื่อกำคลัทช์รถจะไม่มีเอนจิ้นเบรก ทำให้รถยิ่งไหลเร็วขึ้น จึงต้องใช้ระยะเบรกมากขึ้นและยังทำให้ล้อล็อคได้ง่ายกว่าปกติด้วย
** ข้อควรจำสำหรับการใช้คลัทช์
โดยปกติเราจะใช้คลัทช์เพื่อเปลี่ยนเกียร์ หรือป้องกันรถดับที่ความเร็วต่ำๆเท่านั้น เช่นก่อนการหยุดหรือจอดรถ (0-10 กม./ชม.)
เอาหล่ะสำหรับเรื่องเบรกเบื้องต้น ก็ขอเอาไว้เท่านี้ก่อนนะครับ หวังจะเป็นประโยชน์บ้างสำหรับบางคนที่ยังไม่รู้หรืออาจจะเป็นการฟื้นความจำสำหรับบางคนที่เคยรู้แต่ลืมๆ ไปบ้าง และที่สำคัญถ้ามีโอกาสก็ควรจะหาเวลาไปฝึกฝนบ้างนะครับ เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง แล้วเจอกันคอลัมน์หน้านะคร้าบ...
เรื่อง - กราฟิค : Rider 11
ภาพประกอบ : Rider 11 |