Special
Scoop วันนี้ต้องเรียกว่าพิเศษจริงๆ สำหรับคนที่อายุ 30 อัพและเคยชื่นชอบรถสปอร์ตมาก่อน
เรียกว่าอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิตคงเคยฝันว่าจะได้สัมผัสเจ้า Honda RVF750R หรือชื่อที่คุ้นหูกันดีคือ
“RC45” รถสเป็คพิเศษที่มีตังค์อย่างเดียวคงซื้อไม่ได้ ความดังของมันนั้นทำให้นักเล่นรถ
400 CC บ้านเรานำเอาดีไซน์ของมันมาเป็นต้นแบบในการตกแต่งรถคันเก่งโดยเฉพาะคนที่ขับ
NC30 หรือ NC35 เพื่อให้ดูคล้ายรถแข่งซูซูก้า 8 ชม. อย่างน้อยที่ผมนึกออกคนนึงก็
อ.จารย์ชุม ของมิตรรักแฟนเพลงไรดิ้งคอร์สนี่แหละ เมื่อก่อนนี้ฝันสุดๆกับ “RC45 เบอร์
11” ทุกลมหายใจทีเดียว
สำหรับ RC45 ก่อนหน้านี้สมัยผมยังทำงานในวัฏจักรมอเตอร์ไซเคิลกับอีตาสปาย 13
ก็เคยเอาเจ้าตัวนี้มาเทสต์ในคอลัมน์ลองขี่กันมาแล้วรอบนึงและหลังจากคราวนั้นแล้วก็แทบจะไม่เคยพบมันอีกเลย
แต่แล้วเหมือนดวงพวกผมจะสมพงศ์กับมัน เราได้มีโอกาสได้พบเจอมันอีกอย่างไม่คาดคิดฝันมาก่อน
ทำให้พวกเรารู้สึกดี๊ด๊าตื่นเต้น(จนออกนอกหน้า)ที่จะได้ไปร่วมย้อนอดีตสมัยหนุ่มๆอีกครั้งกับรถสปอร์ตหายากตัวนี้
Special Scoop ครั้งนี้ต้องขอขอบคุณเป็นพิเศษกับคุณหนึ่ง เจ้าของรถที่อุตสาใจป้ำกล้านำเอาเจ้า
RC45 สภาพที่สมบรูณ์ที่สุดชนิดที่ว่าใหม่กิ๊กเหมือนพึ่งออกมาจากโรงงาน(เพราะวิ่งมาไม่กี่กิโลเท่านั้น)
แถมมีทีเด็ดที่ทำให้พวกผมตาแทบทะลุออกนอกเบ้า เพราะเจ้า RC45 คันนี้เจ้าของรถได้ทำการยัดของแต่งคิดพาร์ทของ
HRC Stage 3 แท้ๆจากโรงงานมาเป็นที่เรียบร้อย.... ว่าแล้วก็อย่าให้เสียเวลา เราไปชมเจ้า
RC45 คันนี้กันเลยครับ
ประวัติอันยาวนานตั้งแต่กำเนิดเครื่องยนต์ V-FOUR
ประวัติของมันเริ่มต้นตั้งแต่ปี 1982 Honda ได้เปิดตัวรถรุ่นใหม่ออกจำหน่ายในตลาดในชื่อ
Honda VF750 Sabre ซึ่งทันทีที่เปิดตัวก็ได้รับความนิยมพอสมควรด้วยเครื่องยนต์ที่แตกต่างออกไป
เพราะในสมัยนั้นรถ Superbike จากค่ายญี่ปุ่นแทบทุกรุ่นจะใช้ Pattern เครื่อง 4 จังหวะ
โดยวางชุดลูกสูบแบบ 4 สูบเรียง (inline-4) แต่ Honda VF750 ตัวนี้นำเสนอทางเลือกใหม่ด้วยเครื่อง
V-4 โดยจุดเด่นของเครื่องยนต์แบบ V-4 คือมันทำให้ขนาดมิติสัดส่วนในด้านความกว้างของเครื่องยนต์ให้แคบลง
เล็กกระทัดรัดและดูจะเหมาะสมกับการนำมาติดตั้งบนพื้นที่แคบๆของเฟรมรถมอเตอร์ไซค์ได้ดีกว่าเครื่องสูบเรียง
นอกจากนี้แล้วการวางเครื่องแบบ V-4 ยังทำให้รอบการทำงานจัดจ้านขึ้นเพราะการวางเครื่องแบบนี้ช่วยลดแรงแรงสะท้านไปได้ด้วยตัวมันเอง
ไม่ต้องพึ่งตัวบาลานซ์เซอร์เพื่อลดแรงสะท้านใดๆเพิ่มเติมเข้าไป
ต่อมาในปี 1986 Honda ก็ปล่อยเครื่อง V-Four รุ่นที่สองออกวางตลาดในรุ่น VFR750F(RC24)
โดยมีคุณลักษณะเด่นๆต่างจากเครื่องรุ่นแรกคือมีการนำระบบขับเคลื่อนแคมชาร์ฟด้วยเฟืองเกียร์
(Cam gear Train) เข้ามาแทนระบบโซ่ราวลิ้นเพื่อเพิ่มความแม่นยำของระบบขับราวลิ้นและตัดปัญหาเรื่องการดูแลรักษาไปได้มาก
พูดได้ว่าตลอดอายุการใช้งานแทบจะไม่ต้องเปลี่ยนชุดขับราวลิ้น ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาจากเครื่อง
V-4 รุ่นแรกที่ไม่ค่อยเสถียรต่อการใช้งานประจำวันเท่าไหร่นัก เพราะโซ่ขับราวลิ้นมักจะมีปัญหาน่าเวียนหัวที่ต้องคอยเช็คระดับความตึงหย่อน
หรือต้องเปลี่ยนโซ่ขับราวลิ้นกันบ่อยๆ
หลังจากให้กำเนิด VFR750F แล้ว Honda ก็เริ่มพัฒนาเครื่องยนต์ V-four Generation
ที่ 2 เพื่อนำมาใช้สำหรับการแข่งขันอย่างจริงจังในโปรเจ็ค RVF โดยในปลายปีถัดมา(1987)
Honda ก็เผยโฉม VFR750R ในชื่อรหัสการผลิตว่า RC30 โดยจุดประสงค์เพื่อใช้ลงแข่งขัน
World Endurance ซึ่งการแข่งขัน World Endurance นี่เองที่มีส่วนช่วยให้เกิดการแข่งขัน
World Superbike (WSB) ในปี 1988
เมื่อมีรายการแข่งขันระดับเวิล์ดคลาสเพิ่มขึ้นแบบนี้ Honda เองก็ไม่พลาดที่จะนำ
RC30 มาปรับปรุงให้เป็นรถโปรดักชั่นขายให้กับทีมแข่งหรือผู้สนใจกระเป๋าหนักทั่วๆไปนำไปใช้เพื่อการแข่งขัน
โดยการแข่งขัน World Superbike นั้นมีข้อตกลงในเรื่องกติกาใหม่ระหว่างบริษัทผู้ผลิตด้วยกัน
โดยมีจุดประสงค์ให้ทีมแข่งอิสระหรือทีมแข่งหน้าใหม่ทั่วๆ นอกเหนือจากทีมโรงงาน มีโอกาสซื้อหารถมาตกแต่งโมดิฟายลงทำการแข่งขันได้สะดวกกว่าและประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการแข่งขัน
World Endurance หรือ World GP (ซึ่งเป็นเวทีแข่งขันเฉพาะของทีมใหญ่ๆที่ได้รับการสนับนุนจากทีมโรงงานเท่านั้น)
ข้อแตกต่างเรื่องกติกาตรงนี้ทำให้ต้องมีการกำหนดเรื่องจำนวนการผลิตเพื่อจำหน่ายขั้นต่ำ
(Homologation) มาบังคับไว้ ซึ่งระบุไว้รถว่ารถรุ่นที่จะนำมาแข่งขันได้นั้นจะต้องมียอดการจำหน่ายในปีที่จะลงแข่งขันไม่น้อยกว่า
500 คันโดยต้องขายให้กับทีมใดก็ตามที่สนใจโดยไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องเป็นทีมโรงงานเองหรือทีมอิสระใดๆ
จากกติกาการแข่งขันทำให้ RC30 กลายเป็นรถสเป็คพิเศษที่ผลิตขึ้นมาในจำนวนจำกัดตัวแรกของ
Honda โดย RC30 นั้นได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักเล่นรถกระเป๋าหนักและทีมแข่งอิสระตั้งแต่เปิดตัวให้สั่งจอง
จากจำนวน 500 คันมันถูกนำเข้าโดยทีมโรงงานและทีมแข่งอิสระในอเมริกา 20 ทีมคิดเป็นจำนวนรถประมาณ
50 คัน ส่วนที่เหลือก็ถูกส่งไปจำหน่ายในยุโรปและทีมแข่งในญี่ปุ่นเอง
ในปี 1992 เมื่อการแข่งขัน WSB ได้รับความนิยมอย่างสูง Honda พบคู่แข่งหลายๆค่ายร่วมลงทำการแข่งขันไม่ว่าจะเป็น
YZF750 ของ Yamaha GSXR750R ของ Suzuki และ ZX7RR ของ Kawasaki หรือแม้แต่ Ducati
916 ของค่ายยุโรปก็เริ่มสร้างผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม ขณะ RC30 ก็ดูจะเริ่มแก่ชราลง
Honda จึงต้องหารถรุ่นใหม่ที่มีสมรรถนะที่ดีกว่า RC30 เข้ามาทดแทน และเจ้า RC45
ก็คือไม้เด็ดที่ถูกเผยโฉมในปี 1994
นอกจาก RC30 รุ่นพี่แล้วอาจกล่าวได้ว่า RC45 เป็นรถโปรดักชั้นในตำนานอีกรุ่นหนึ่งที่มีคนต้องการเป็นเจ้าของมากที่สุดมันเกิดมาเพื่อสานต่อความสำเร็จของ
RC30 การพัฒนา RC45 นั้นยังคงได้แนวทางมาจากรถ Endurance เช่นเดียวกับ RC30 แต่คราวนี้มันได้รับการปรับปรุงใหม่ในจุดสำคัญๆ
หลายส่วน เช่นเป็นครั้งแรกที่ Honda นำเอาระบบหัวฉีด PGM-FI เข้ามาใช้แทนคาร์บูเรเตอร์แบบเดิม
โดยระบบ PGM-FI ใน RC45 มีพื้นฐานทางเทคนิคมาจาก Honda NR750 รถสเป็คพิเศษอีกคันที่ออกจำหน่ายไปก่อนหน้านั้นตั้งแต่ปี
1992 นอกจากนี้แล้ว RC45ยังเพิ่มชุดควบคุม ECU และระบบจุดระเบิดแบบ PGM-IG เข้าไปอีกด้วย
แต่ถึงแม้จะมีเทคโนโลยี่ใหม่ๆเข้ามา แต่ RC45 ก็ยังคงเก็บเอาเอกลักษณ์เด่นๆของ
RC30 ตั้งแต่ Design ภายนอกโดยเฉพาะชุดสวิงอาร์มหลังแบบแขนเดียว Pro-Arm อันเป็นผลงานทางเทคโนโลยี่ที่ได้สืบทอดมาโดยตรงจากการแข่งขัน
Endurance (สวิงอาร์มแบบโปรอาร์มถูกคิดขึ้นมาเพื่อช่วยลดระยะเวลาการเปลี่ยนยางในการแข่งขัน
Endurance โดยเป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่าง Elf และ Honda)
และเป็นเพราะว่ามันเกิดมาเพื่อการแข่งขันดังนั้น RC45 จึงเป็นอาวุธสำคัญของ Honda
ได้ใช้เข้าร่วมการแข่งขันดังๆ และประสบความสำเร็จระดับโลกมากมายไม่ว่าจะเป็น World
Endurance, World Superbike, AMA Superbike, All Japan 750CC หรือแม้แต่รายการท้านรกสุดหินอันโด่งดังของโลกอย่างรายการ
TT Isle Of Man
ในช่วงปี 1999 ถือเป็นช่วงที่ RC45 ได้รับการพัฒนาไปมากที่สุด
มันเป็นรถโปรดักชั่นที่สามารถโมดิฟายทำแรงม้าได้ถึง 190 แรงม้า (แน่ละ... จะฝีมือใครไหน
? ก็ HRC ขาประจำนั้นไง) ซึ่งกำลังที่ได้นั้นใกล้เคียงกับรถ GP 500CC ในยุคนั้นทีเดียว
การเปลี่ยนสำคัญจุดหนึ่งในยุคนั้นก็คือ HRC ได้ทำการถอดเอาระบบกันสะเทือนหลังแบบ
Pro-Arm และใช้ระบบกันสะเทือนแบบสวิงอาร์มทั่วไปแทนหากว่ามันไม่ได้ถูกนำไปใช้แข่ง
Endurance และเป็นครั้งแรกที่เราเห็นได้ด้วยตาว่า RC45 มีทางเดินใหม่ของมันใน WSB
โดยเฉพาะไม่ยึดติดกับภาพของรถสนามสายพันธุ์ Endurance อีกต่อไป
ความร้อนแรงของ RC45 ในช่วงนั้นทำให้ Honda ต้องนำ VFR400R มาปรับปรุงให้มีรูปทรงคล้ายคลึงกับ
RC45 จำหน่ายให้กับนักเล่นรถทั่วไปในปี 1994 ในชื่อ RVF400R (NC35) รถพิมพ์นิยมที่เป็นที่รู้จักกันดีรุ่นหนึ่งของนักเล่นบ้านเราขณะนั้น
World Superbike 1988-2000
#1 |
2000 |
Colin Edwards Honda RC45 |
1997 |
John Kocinski, Honda RC45 |
|
|
Suzuka 8 hours 1994-1999 #1 |
1999 |
Tadauki Okada, Alex Barros |
1998 |
Shinishi Itoh, Toru Ukawa |
1997 |
Shinishi Itoh, Toru Ukawa |
1996 |
Aron Slight, Tadauki Okada |
1995 |
Doug Polen, Aron Slight |
1994 |
Doug Polen, Aron Slight |
เครื่องยนต์ V4 ขนาด 120 แรงม้า
เครื่องยนต์บล๊อคเดิมที่ทำงานด้วยกลไกเป็นหลักใน RC30 สามารถปั่นแรงม้าออกมาได้
112 แรงม้าส่วน RC45 วิศวกรได้โยนระบบกลไกแบบเดิมๆทิ้งไปแล้วหันมาพึ่งพาระบบอิเลคทรอนิกส์ดิจิตอลแทน
โดยใช้ระบบจ่ายไอดีด้วยหัวฉีด PGM-FI ( Programmed Fuel Injection System) ทำงานร่วมกับระบบจุดระเบิด
PGM-IG ( Programmed Ignition System ) ที่อยู่ภายผังการทำงาน Mapping แบบ 3 มิติในชุดควบคุมหลัก
ECU ( Electronic control unit ) แบบ 16 Bit เพื่อให้มันสามารถคำนวณการสั่งจ่ายเชื้อเพลิง
ส่วนผสมของไอดี ได้ตามสภาพแวดล้อมแบบ Real Time ซึ่งการคำนวณทุกอย่างจะได้ข้อมูลจากเซ็นเซอร์ตรวจสภาพแวดล้อมที่ตัวเครื่องยนต์เกือบ
10 จุด โดยเฉพาะที่น่าสนใจก็เช่น
1.เซ็นเซอร์วัดความกดอากาศ ที่ช่วยให้เครื่องยนต์ยังทำงานได้อย่างดีแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนระดับดันบรรยากาศยามขึ้นเขาลงเขา
2.เซ็นเซอร์ตรวจการน๊อก(ชิงจุด)ในห้องเผาไหม้ 3.เซ็นเซอร์วัดแนวดิ่งที่จะทำให้เครื่องยนต์ตัดการทำงานทันทีที่แรง
G กับมุมเอียงรถไม่สัมพันธ์กัน (รถล้มไปแล้ว)
ระบบกันสะเทือนหน้า USD
ของโชว่าส่วนหลังยังเป็นโปรอาร์ม
ตั้งแต่ปี 1992 ระบบกันสะเทือนหน้าแบบ USD
เริ่มได้รับความนิยมกับรถสปอร์ตฮอนด้าเองไม่พลาดที่จะนำมาใส่ไว้กับรถตัวเจ็บของค่ายหลายๆ
ตัวเช่น NR750, RVF400 และ RC45 พร้อมกับระยะเทลล้อหน้าที่สั้นลงทำให้ RC45 นั้นเกาะโค้งได้กระชับและแม่นยำกว่า
RC30 วันที่พวกเราได้เทสต์กันในสนามนั้นต้องมีการปรับแต่งใหม่เหมือนกัน เพราะรถไม่ได้ใช้งานมานานและก็ไม่ทราบว่าได้มีการปรับเซ็ทใหม่หรือไม่
ทำให้ในช่วงแรกนั้นฟิลลิ่งไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่พอปรับเซ็ทใหม่แล้วก็เหมือนเสือติดปีก
ความแม่นยำในการวาดโค้งมีสูงมากและเบาแรงพอๆกับรถขนาด 400 ซีซี ส่วนโช้คอัพหลัง
Pro-link ทำงานร่วมกับสวิงอาร์มแบบ Pro-Arm เราต้องปรับเซ็ทกันใหม่เหมือนกันในรอบแรกๆของการทดสอบ
พอเซ็ทจนลงตัวมันก็ให้ฟิลลิ่งที่ดีสมได้เยี่ยมสมราคา
ถึงเวลาลองของจริง...
เรามาดูความเห็นของแต่ละคนครับ
ขอบอกว่าพวกเราทั้ง 3 คนทั้งผม จารย์ชุม และเจ๊บา เมื่อก่อนก็หลงไหลเจ้า RC45 ตัวนี้เรียกว่ามีภาพ
RC45 ตัวแข่ง Suzuka มาให้ดูกันทีไรก็ทั้งพลิกทั้งเพ่งทั้งจ้องภาพของมันอยู่ทั้งวันเชียวแหละ
Gear7 's Comment !
ก็อย่างที่เกริ่นไปแต่ตอนแรกแล้วว่า RC45 ตัวนี้ได้ผ่านการตกแต่งด้วยคิทพาร์ทของ
HRC ตั้งแต่ชุดไฟ ท่อไอเสีย และพักเท้า แถมท้ายด้วยกันสะบัดโอลินซ์อีก ดังนั้นการขี่วันนี้คงแตกต่างจากรถเดิมๆพอสมควร
ตั้งสติก้าวเท้าขึ้นไปนั่งบนรถปรับมือครัชต์มือเบรก ลองยกเท้าสลับซ้าย-ขวาบนพักเท้าแต่งซึ่งยกสูงขึ้นกว่าเดิมประมาณ
1 นิ้ว ลองจนคุ้นกับตำแหน่งก็ขอฟังเสียงเครื่องหน่อย สตาร์ททีเดียวติดแต่เจ้าพระคุณเอ๊ยยยย์
เสียงของมันช่างเหมือนกับ NC30 หรือ NC35 ที่ยัดท่อ ETHOS เสียจริงๆ แต่ที่ต่างกันคือเสียงของมันแน่นกว่าและวัดรอบนั้นกวาดขึ้นเร็วมากๆ
พอตบเกียร์ 1 วิ่งไปตามพิทเลนมันก็ยังสมเป็น Honda ถึงแม้จะเป็นสายพันธุ์รถแข่งที่ผ่านตกแต่งมาแล้วแต่ก็ยังเป็นรถที่คุมได้ง่าย
ที่สำคัญสำหรับในยุคเดียวกัน RC45 ยังมีเบาะนั่งที่ไม่สูงมากกำลังดีที่ 770 มม.
(ต่างจาก R1 ตัวเก่าของผมที่สูงถึง 810 มม.)
เกียร์ 1 กว้างสุดๆ ใส่ได้ทุกโค้งใน
BRC
หลังจากพามันวอมอัพได้ 1 รอบก็เริ่มเล่นไปทีละโค้ง...
สิ่งแรกที่รู้สึกต่างออกไปจากรถ Bigbike สมัยนี้คือรอบการทำงานของมันจัดมากแถมเกียร์ตั้งแต่เกียร์สองขึ้นไปจะทดชิด
แต่เกียร์ 1 กลับลากรอบได้ยาวชนิดที่ว่าถ้าเอากันจริงๆ มันอาจจะลากได้ถึง 90 กม/ชม
ด้วยเกียร์ 1 เกียร์เดียว แต่ที่แปลกใจที่สุดคือลองขี่อยู่หลายรอบกลับกลายเป็นว่ามีเกียร์
1 เพียงเกียร์เดียวที่เข้าโค้งในสนาม BRC ได้ดีที่สุดโดยเฉพาะเมื่อกำรอบไว้แถว 6-7
พันรอบ หลายๆครั้งพยายามจะใช้เกียร์สูงขึ้นแต่ผลก็คือกำลังส่งออกจากโค้งหายไป มีเพียง
2 โค้งเท่านั้นที่ส่งออกโค้งได้ด้วยเกียร์ 2 คือโค้งสุดทางตรงและโค้งก่อนเข้าทางตรง
เกี่ยวกับไรดิงส์โพสิชั่นโดยเฉพาะระยะออพเซ็ทจากตำแหน่งเบาะนั่งถึงช่วงแฮนด์ทั้งสองข้างคล้ายกับ
NSR250 ปี 94 และ NC35 อย่างมากถ้าคุณเคยขี่เจ้าสองตัวนี้ในสนามมาก่อนรับประกันว่าคุณจะชินกับมันได้อย่างรวดเร็ว
ฟิลลิ่งเครื่องเหมือน 2 จังหวะเน้นรอบเครื่องไม่เน้นทอร์ค
การขับขี่ในสนามเมื่อเทียบกับรถสปอร์ตตัวพันสมัยนี้ ที่เห็นได้ชัดเจนคือความรู้สึกถึงแรงบิดน้อยกว่า
สัมผัสมันบอกได้ทันทีว่ากำลังของรถมาจากรอบการทำงานเป็นหลัก จะว่าไปแล้วความรู้สึกเหมือนกำลังขี่รถสองจังหวะที่มีขนาดอวบอ้วนเต็มไม้เต็มมือ
มีแต่เสียงคำรามของเครื่องยนต์และปลายท่อเท่านั้นที่ได้ความรู้สึกของรถ 4 จังหวะ
การพลิกเข้าโค้งแคบๆ คุณสามารถไหลลึกเข้าไปแล้วไปลดเกียร์ใกล้ๆโค้งมันก็ไม่มีอาการล้อล๊อก(ยกเว้นแต่ว่าคุณจะดันไปปิดคันเร่งจนหมด)
พอเลย Apex ไปแล้วคุณสามารถเปิดคันเร่งส่งรอจังหวะอัพเกียร์ออกโค้งไปได้ทันที ส่วนในโค้งกว้างๆ
คุณไม่ต้องทำอะไรมากนอกจากเลือกไลน์ถ้าความเร็วพอเหมาะมันจะออกโค้งไปได้ในไลน์ที่คุณคิดไว้อย่างแม่นยำ
และตามสไตล์ของฮอนด้าต่อให้คุณผิดพลาดขาดๆเกินๆไปเล็กน้อย จะเปลี่ยนเกียร์ขึ้นหรือลงก่อนส่งคันเร่งออกโค้งไปก็ยังไหว
หลังจากพบมันครั้งแรกเมื่อ 14 ปีที่แล้ว
วันนี้ผมเองก็ไม่ได้คิดว่าจะได้กลับมาขี่มันอีกและการกับมาขี่มันคราวนี้ถ้าจะพูดกันจริงๆ
ก็พร้อมรบกว่าคราวที่ทำหนังสือมากๆ เมื่อเวลาผ่านไป จากรถหลายๆ รุ่นที่ได้ทยอยมาให้ได้ลองในช่วงหลังๆ
สำหรับผมแล้วยังไงเจ้า RC45 ก็ยังเป็นรถในฝันของผมอยู่ดี แม้ว่าในปัจจุบันนี้อาจจะมีรถที่มีสมรรถนะดีกว่าเร็วกว่า
แรงกว่าด้วยราคาพอตัวที่พอๆกัน แต่คุณค่าทางใจ RC45 ไม่ใช่รถที่ใครๆ จะมีได้ และถึงจะหามันมาได้ก็ต้องมาคุยกันว่าพร้อมจะดูแลมันได้ดีหรือไม่
รถดีๆ สภาพสมบรูณ์หายากแบบนี้บางทีก็สมควรอยู่กับคนที่เหมาะสม .... ส่งท้ายสำหรับตัวผมแล้วยังไงก็ต้องขอขอบคุณหนึ่งเจ้าของเราและเฮียสี่ที่กล้าวัดใจให้พวกเรา
stormclub.com ได้สัมผัสมันอย่างเต็มที และต้องขอบคุณภาพสวยๆ จากป๋าสิทธิืที่ตากแดดตากลมร้อนๆ
อยู่กับพวกเราเกือบทั้งวันด้วยครับ อ่านความเห็นเพิ่มเติมของ
Banana และ Rider 11-> หรือ ดูข้อมูลทางเทคนิคเพิ่มเติม
->
|